ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เปิดเผยถึงการปรับรูปแบบการสอนในรายวิชากลศาสตร์วิศวกรรม (Engineering Mechanics) โดยใช้แนวทาง Active Learning ร่วมกับการสอนแบบ Flipped Classroom หรือ “ห้องเรียนกลับทาง” ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยให้เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น
“กลศาสตร์วิศวกรรม” ถือเป็นวิชาหลักที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทุกคนต้องเรียน แต่ก็ถือเป็นวิชาที่ยากและท้าทายสำหรับนักศึกษาใหม่ เนื่องจากต้องใช้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน และมีเนื้อหาครอบคลุมการศึกษาพฤติกรรมของแรงในระบบโครงสร้าง รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างแรง ความเร็ว และความเร่ง ซึ่งมีความสำคัญในงานวิศวกรรมทุกสาขา
ผศ.ดร.ชลธิศ กล่าวว่า ปัญหาที่เจอคือ นักศึกษามีพื้นฐานที่แตกต่างกัน บางคนอาจไม่เข้าใจการอธิบายพฤติกรรมทางกายภาพด้วยสมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ทำให้ต้องปรับการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น จึงได้นำแนวทาง Active Learning มาใช้ เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ได้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงของวิศวกร
การใช้เทคนิค Flipped Classroom จะให้นักศึกษาเรียนรู้เบื้องต้นผ่านวิดีโอออนไลน์ล่วงหน้า และทำแบบทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนเข้าเรียนในห้องเรียนจริง นอกจากนี้ ยังมีการทำ Quiz สั้นๆ ในชั้นเรียน เพื่อทบทวนความรู้และเตรียมตัวสำหรับเนื้อหาใหม่ นักศึกษาสามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ได้ด้วย การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับนักศึกษา เช่น การทำแบบทดสอบผ่าน Facebook และ Google Forms ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักศึกษา ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ชลธิศ ยังเสริมว่า การใช้แนวทาง Active Learning ช่วยให้นักศึกษามีทักษะในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น และสามารถเข้าใจเนื้อหาดีขึ้น โดยการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติจริง ผลการประเมินจากนักศึกษาชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาพึงพอใจมากกับวิธีการสอนใหม่ โดยเฉพาะ Flipped Classroom ที่ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และทบทวนเนื้อหาผ่านวิดีโอและสื่อออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น
มหาวิทยาลัยศรีปทุม ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาการเรียนการสอน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาในยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ 1 Facebook Post การถ่ายภาพพร้อมกับการเช็คชื่อในชั้นเรียน

ภาพที่ 2 ตัวอย่างรายการ (Playlist) วิดีโอของบทเรียน ในช่อง YouTube

ภาพที่ 3 ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์บันทึก แบบฝึกหัดในชั้นเรียนที่สามารถส่งเป็น PDF ให้ผู้เรียนเพื่อทบทวนได้

ภาพที่ 4 งานมอบหมาย เพื่อการทบทวนและเตรียมตัวของผู้เรียนในแต่ละสัปดาห์

ภาพที่ 5 การสื่อสารข้อมูล เอกสาร งานมอบหมายในชั้นเรียนด้วยสื่อที่นักศึกษาคุ้นเคยและใช้ในชีวิตประจำวัน (Facebook)

ภาพที่ 6 แบบทดสอบ Pre-Test เพื่อการเรียนรู้เนื้อหาก่อนเข้าเรียน Post-Test เพื่อการทบทวนหลังการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์