พีรัช อิงคุทานนท์ ตั้งเป้าเป็นตัวแทนทีมชาติไทยลงแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่าง กีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน หลังจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ โอซีเอ ได้บรรจุ อีสปอร์ต เข้าแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์เป็นที่เรียบร้อย เริ่มตั้งแต่เอเชียนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่บรรจุ “อีสปอร์ต” เป็นกีฬาสาธิตเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด กกท. ได้มีมติเห็นชอบประกาศให้ อีสปอร์ต เป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 รวมถึง โอซีเอ ก็ได้บรรจุอีสปอร์ตลงชิงชัยเหรียญรางวัลในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จีนด้วยนั้น
ทำให้กระแสกีฬา อีสปอร์ต ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น อีกทั้งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการจัดตั้งคณะขึ้นมาเพื่อรองรับกีฬาอีสปอร์ตอย่างจริงจัง และมีนักกีฬาฝีมือดีอยู่ในประเทศไทยหลายคน
หนึ่งในนั้นก็คือ “น้องพี” พีรัช อิงคุทานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขา คอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์คณะดิจิทัลมีดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม นักกีฬาอีสปอร์ต ที่มีความเก่งกาจในเกม Counter Strike โดย “น้องพี” ใช้เวลาแค่เพียง 1 ปีไต่อันดับขึ้นมาเป็นมือวางอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย ได้เป็นที่เรียบร้อย
โดย “น้องพี” เล่าถึงที่มาของการหันมาสนใจกีฬาอีสปอร์ตอย่างจริงจังว่า เริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ หลังจากกลับจากออสเตรเลีย โดยเพื่อนๆ แนะนำให้เล่น จากนั้นเริ่มเล่นและแข่งขันกับทีมต่างๆ โดยใช้ชี่อเล่นเกมว่า Olivia
“น้องพี” อันดับ 9 ของโลกในเกม Counter Strike และอันดับ 4 ของเอเชีย
นอกจากนี้ “น้องพี” ยังเคยเป็นหนึ่งในนักกีฬาของทีม ซิกเนเจอร์ เกมมิ่ง ทีมอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นเวลา 1ปี ก่อนจะออกมาตั้งทีมร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน ใช้ชื่อ Glassy Sky และตระเวนแข่งขันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนทีม NSPR Gaming สวีเดน เห็นผลงานยอดเยี่ยมจึงเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์เป็นเวลา 1 ปี แลกกับชัยชนะในการแข่งขันเกมโดยต้องเข้ารอบ Final e-Sport ให้ได้
“หลายคนมองว่า เด็กที่เล่นเกม เป็นเด็กที่ติดเกม ทำให้เสียเงินทอง เสียเวลา และเสียการเรียน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น เช่นตัวผมเอง ผมใช้เวลาฝึกฝนเกมเพียงวันละ 3 ชั่วโมง เล่นเพื่อเป็นนักกีฬา และสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย ที่สำคัญเกมทำให้คนมีวินัย” น้องพี ให้ข้อคิดถึงกีฬาอีสปอร์ต
ส่วนเป้าหมายสำคัญที่วางเอาไว้หลังจากนี้คือ ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ และตั้งเป้าที่จะเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในกีฬาเอเชียนเกมส์ ปี 2022 ที่ประเทศจีน และการเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย เพราะยุครุ่งเรืองของนักกีฬาอีสปอร์ต คือ ช่วงอายุ 21-23 ปี เมื่อถึง 24-26 จะเริ่มช้าลง มีเด็กรุ่นใหม่ที่กระหายชัยชนะจะทุ่มเทกับเกมและจะแซงขึ้นมาเมื่อถึงเวลานั้นเตรียมวางแผนจะผันตัวเองเปลี่ยนจากผู้เล่นเกม ไปเป็นผู้จัดการเกมอีสปอร์ต ดังนั้นจึงเลือกเรียนหลักสูตรอีสปอร์ตเพื่อเลี้ยงชีพในอนาคต
“ใน สวีเดน จีน และอีกหลายประเทศ มีการเปิดสอน อีสปอร์ต มานานกว่า 4ปี ผมไม่คิดว่า เมืองไทยจะมีการเปิดสอนหลักสูตรนี้ด้วย จนคุณแม่บอกว่าที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมมีการเปิดหลักสูตรอีสปอร์ต จึงมาสมัครเรียน เพราะรู้สึกว่า เป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการและใช้ได้ในชีวิตจริง” น้องพี กล่าว
นอกจากนี้ “น้องพี” ยังฝากถึงทุกคนที่จะหันมาเอาดีเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตว่า อยากให้ทุกคนพัฒนาอาชีพนี้จากความชอบก่อน แล้วค่อยเพิ่มความจริงจังเพื่อเป็นอาชีพ เพราะถ้าหากเรามีความชอบเป็นตัวขับเคลื่อน เราก็จะทำอาชีพนั้นได้ดี
โดยหลังจากนี้หวังว่า จะได้มีโอกาสเป็นตัวแทนนักกีฬาอีสปอร์ตของประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 และสำหรับทุกคนที่รักและชื่นชอบในกีฬาอีสปอร์ตเหมือนกัน ควรหมั่นฝึกฝน และหาความรู้เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีความสามารถ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม
โทร. 0-2579-1111 ต่อ 2000 โทรสาร 0 2579 1111 ต่อ 1999
อีเมล์ : เว็บไซต์ https://www.spu.ac.th/fac/sdm/
หรือติดตามกิจกรรมต่างๆได้ที่ https://www.facebook.com/sdmspu
หรือเยี่ยมชมวิดีทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ที https://www.youtube.com/user/Schoolofdigitalmedia
#SRIPATUM #SPU #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง #SPUสร้างผู้ประกอบการ #ดิจิทัลมีเดียม.ศรีปทุม


