จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายที่ต้องเริ่มปรับตัว หันมา Work From Home และ เรียน Online กันมากขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซึ่งทาง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีการเตรียมความพร้อมในรูปแบบการเรียนการสอน Online มาตลอด แต่กับคณะที่ต้องมีการเรียนใน Studio ที่เน้นวิชาปฏิบัติแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่หลายคนอาจสงสัยว่า จะเรียน Online ได้จริงหรือนั้น?
เราไม่ปล่อยให้ทุกท่านสงสัยนาน เพราะ อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จะมาให้คำตอบพวกเรากันว่า เรียน Online สไตล์ สถาปัตย์ SPU ใครว่าทำไม่ได้!
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ SPU มีการปรับการเรียนการสอน มาเป็นรูปแบบ Online อย่างไร?
อาจารย์ธีรบูลย์ : สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในคณะฯ โดยเฉพาะเรื่องวิธีการคิดและการจัดการเรียนการสอน เพื่อแก้ปัญหา ของสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเราออกแบบตารางสอนออนไลน์ ที่สัมพันธ์กับตารางสอนเดิมที่นักศึกษาในคณะฯ ใช้อยู่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับตัวนักศึกษาน้อยที่สุด
เรามีการใช้ Application Zoom Pro โดยมอบหมายให้หัวหน้าสาขาและอาจารย์แต่ละสาขาเป็นผู้ควบคุมดูแลและกำหนด ID ของรายวิชา คล้ายๆ กับเรียนที่ห้องเรียน ซึ่งทุกรายวิชาจะมี ID ของตัวเองเพื่อให้นักศึกษาเข้าไปเรียนตามตารางสอนที่เหมือนเดิมทุกประการ ในเวลาเดียวกันเราใช้ Database ของมหาวิทยาลัยในการส่งเลข ID นี้ให้กับนักศึกษาที่ลงทะเบียนในแต่ละรายวิชาให้ได้รับทราบผ่านทางระบบ E–mail เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีนักศึกษาคนใดไม่ทราบข้อมูลนี้
หลายคนสงสัยว่า วิชาที่ต้องเรียนใน Studio เมื่อถูกปรับมาเรียน Online มีอุปสรรคไหม ?
อาจารย์ธีรบูลย์ : อุปสรรค ที่ชัดเจนคือ เราไม่สามารถดูผลงานของนักศึกษาในหลายๆ ส่วนพร้อมๆ กัน เพราะข้อจำกัดของตัวโปรแกรมเองที่อนุญาตให้นำไฟล์ขึ้นได้ทีละไฟล์ หากนักศึกษาจะนำข้อมูลหลายส่วนประกอบการขึ้นนำเสนอ นักศึกษาต้องมีการเตรียมการก่อนพอสมควรซึ่งถือว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะการตรวจงานที่เป็นลักษณะโมเดลหรือหุ่นจำลอง
ซึ่งเดิมทีอาจารย์จะสามารถทำงานร่วมกับนักศึกษาได้ในการให้คำแนะนำ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของภาษาทางรูปภาพ การใช้วิธีสเก็ตบนหน้าจอ ก็ช่วยได้มาก แถมนักศึกษายังมีโอกาสได้เห็นผลงานของเพื่อนๆ และเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงไอเดียของแต่ละคน ทำให้ Class เองมีการ Participate เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
การเรียน Online มันทำลายข้อจำกัดของเรื่องระยะทาง สถานที่ เวลา ไปอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญคือ รายละเอียดและข้อมูลการเรียนการสอนทั้งหมดถูกบันทึกเก็บไว้ในระบบ Cloud ของ Zoom ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาสามารถนำมาทบทวนหรือเก็บไว้เป็นข้อมูลในการทำงานต่อไปได้อย่างดี เรียกว่ามันยืดหยุ่นและเกิดการเรียนการสอนได้ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ
อาจารย์ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีเทคนิคการสอนที่ดึงดูดเด็กๆ ให้เข้าเรียนอย่างไร
อาจารย์ธีรบูลย์ : ยกตัวอย่างกรณี ดร.ณัฐฐา ที่เป็นหัวหน้าสาขาออกแบบภายใน ก็มีวิธีการทักทายนักศึกษาถามสารทุกข์สุขดิบ คุยเรื่องชีวิตประจำวัน ชวนกินขนม ทำให้บรรยากาศของการเรียนการสอนค่อนข้างผ่อนคลาย ทุกคนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็แชร์ในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำออกมา ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการเรียนการสอนเป็นกันเองมากขึ้น
ส่วน อาจารย์ทนงศักดิ์ หัวหน้าสาขาสถาปัตยกรรม ก็มีการเปิดเพลงมิวสิควีดีโอให้นักศึกษาฟังก่อนเวลาเรียน กรณีที่มีนักศึกษาเข้าห้องมาก่อนล่วงหน้า ผมเองเคยแอบไปดูก็สนุกดีคุยเรื่องเพลงคุยเรื่องมิวสิกวีดีโอก่อนที่จะเข้าชั้นเรียน
สิ่งที่สนุกคือ การที่เราเผยแพร่ตารางสอนออนไลน์เหล่านี้เข้าไปในกลุ่มอาจารย์ผู้สอนเอง ทำให้อาจารย์ผู้สอนก็เข้าไป Join ในบางรายวิชา หรืออย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เชิญสถาปนิกที่ประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมอยู่ที่ประเทศจีนมาบรรยายผ่านโปรแกรม Zoom ในวิชา Professional Practice ที่พูดถึงประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ ก็มีนักศึกษาที่ไม่ได้ลงรายวิชานี้เข้ามาขอร่วมฟังด้วย ซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกว่า ความรู้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แนวคิด office online เปิดห้องตอบข้อสงสัย
อาจารย์ธีรบูลย์ : ต้องอย่าลืมว่า ในคณะฯ ไม่ได้ประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นอาจารย์อย่างเดียว บุคลากรที่สำคัญของคณะส่วนหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ธุรการ ของสำนักงานคณบดี ซึ่งทุกคนมีความสำคัญ และพวกเขาเหล่านั้นสำคัญทั้งกับนักศึกษาและอาจารย์
ผมใช้ช่องว่างจากการจัดตารางสอนออนไลน์ หาเวลาที่กำหนดได้แน่นอน และกำหนดชั่วโมงที่จะให้เจ้าหน้าที่ธุรการได้มีพื้นที่ที่จะให้คำปรึกษากับนักศึกษาและอาจารย์ ที่เป็นแบบออนไลน์เหมือนกับการเรียน Online เช่นกัน จึงเกิดเป็นแนวคิดนี้ขึ้นมาครับ เพราะบุคลากรในคณะมีความสำคัญทุกคน ขอบคุณทุกคนครับ











