อาจายร์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสรีปทุม กล่าวว่า หลายคนคงยังไม่คุ้นเคยหรือยังไม่รู้จักศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม ว่าคือศูนย์อะไรและมีบทบาทหน้าที่อย่างไร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่ภาคปฏิบัติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ อีกทั้งการประกอบวิชาชีพและองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์แขนงอื่นๆ ในฐานะที่เป็น “ศาสตร์แห่งการจัดการพื้นที่” ตั้งแต่ระดับเมืองขนาดใหญ่ อาคาร จนถึงการจัดการพื้นที่ภายในอาคาร เพื่อให้โลกวิชาการและการปฏิบัติวิชาชีพได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น
ศูนย์ CISR จึงถูกตั้งขึ้นภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการและงานวิจัยของคณะฯ อีกทั้งเพื่อบริการวิชาการและวิชาชีพด้านการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาสภาวะแวดล้อม (Built-Environment) ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดการพื้นที่ระดับเมือง,ระดับกลุ่มอาคาร, ระดับอาคาร, และภายในอาคาร ในมิติความสัมพันธ์ของพื้นที่กายภาพ มนุษย์ และสังคม
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ให้คณาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสในการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ทางการวิจัยและการปฏิบัติวิชาชีพ ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพื่อยกระดับสู่การสร้างระบบและการจัดการองค์ความรู้ของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมรังสรรค์ของคณะฯ ทั้งในด้านการผลิตเอกสารทางวิชาการของบุคลากรในคณะ และเวทีสัมนาวิชาการ-วิชาชีพ และเพื่อสร้างเครือข่ายวิชาการ-วิชาชีพ กับองค์กรต่างๆ ภายนอกในฐานะสถาบันด้วย
ทางด้าน ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม กล่าวว่า สำหรับผลงานของศูนย์ (CISR) ที่ผ่านมา ก็มีหลายโครงการที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน อาทิ โครงการการจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเทพลีลา ,โครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และพัฒนาที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน วัดมังกรกมลาวาส และพื้นที่ย่านเยาวราช ระยะที่ 3 เป็นต้น
สำหรับโครงการฯล่าสุด ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์ CISR ที่เข้าไปทำงานในระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยทำงานร่วมมือกัน 3 ฝ่าย กับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ SPU คือ โครงการ การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และฟื้นฟูบริเวณพื้นที่เมืองเก่าจันทบุรีซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ และอีกหนึ่งบทบาทของสถาปนิกชุมชนที่เป็นส่วนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยโครงการดังกล่าว ศูนย์ CISR ได้ลงพื้นที่พูดคุย และรับฟังปัญหาพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมใหญ่ไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม เป็นประธานในการประชุม และยังได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย อีก 3 ครั้ง ตามชุมชนต่างๆ ในบริเวณนั้น ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่สวยงาม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ อาหาร ของดีประจำชุมชน รวมไปถึงประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ
การพัฒนาบริเวณเมืองเก่าจันทบุรีนั้นจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากคนในชุมชนที่อยู่อาศัยก่อนเป็นอันดับแรก ผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไงนั้น คงต้องคอยติดตามกัน ที่แน่ๆงานนี้นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานบนสถานที่จริง ซึ่งต้องร่วมมือและทำงานบนพื้นที่จริง ผู้ใช้สอยจริง สภาพแวดล้อมจริง พบปัญหาจริง เพื่อหาแนวทางร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
#มหาวิทยาลัยศรีปทุม #SRIPATUM #SPU #สถาปัตย์ศรีปทุม # CISR