ม.ศรีปทุม ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถร ป.ธ.๙)

สภามหาวิทยาลัยศรีปทุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาบริหารการศึกษาประเภททั่วไปประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ แด่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์  อุปสมมหาเถร ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติฯ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง รองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส วันจันทร์ที่  ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ศาลาปฏิบัติธรรมสมเด็จพระพุทธชินวงศ์สภา ชั้น ๒ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

คลิกชม คลิปวิดีโอ http://https://youtu.be/y-06MnnAWmU

ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้จัดพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา ประเภททั่วไป ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑  หน้าโกฎ แด่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถร ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ นามเดิม สมศักดิ์ ชูมาลัยวงศ์ ฉายา อุปสโม เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 ที่อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์  ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งทั้งในด้านการศึกษา  การบริหารการศึกษาและกิจการของคณะสงฆ์ไทย  กล่าวคือ  หลังจากอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2504  ณ วัดละมุด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี  จนสอบได้เปรียญธรรม  9  ประโยค  และ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมคธ  ประเทศอินเดีย  อันเป็นความสามารถในทางด้านการศึกษา  ท่านยังมีบทบาทสำคัญในทางการศึกษาและการปกครองมาโดยตลอด  โดยเป็นครูผู้สอนทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีในหลักสูตรของคณะสงฆ์ ในด้านการบริหารการศึกษาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม  เลขานุการเจ้าคณะภาค 13  เป็นรองเจ้าคณะภาค 13  เป็นเจ้าคณะภาค 1  เจ้าคณะภาค 15  เป็นเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม  เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง  เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์  เป็นพระมหาเถระผู้ทรงความรู้ความสามารถในด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนา และการบริหารจัดการ  โดยเฉพาะด้านการศึกษาได้รับการยอมรับและยกย่องเชิดชูจากพุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ดังในปี พ.ศ. 2530   เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุทธิพงศ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์แล้วเห็นว่า การศึกษาภาษาบาลีปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญแตกฉานภาษาบาลีเพียงพอต่อการศึกษาวิเคราะห์อรรถสาระในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึก ท่านจึงเริ่มศึกษาค้นคว้างานด้านคัมภีร์สัททาวิเสส อย่างจริงจัง  ท่านจึงลาพักงานประจำต่าง ๆ ในขณะนั้น คืองานในตำแหน่งคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์  งานในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๓ และงานสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่วัดชนะสงคราม เป็นการชั่วคราว เดินทางไปจำพรรษาที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาถึงวิธีการ กระบวนการการเรียนการสอนคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง และตั้งเป็นสถาบันการศึกษาภาษาบาลีตามหลักอันมาในคัมภีร์สัททวิเสส  โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส” ซึ่งต่อมาได้รับการยกสถานภาพเป็น “วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม” จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์  ต่อมาได้รับอนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ  สาขาวิปัสสนาภาวนา  หลักสูตรประกาศนียบัตร การบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) หลักสูตรการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา (ป.วภ.)  และได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์  นอกจากนี้ท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี  ในฐานะผู้บริหารของสถาบันแห่งนี้   ท่านยังได้ประพันธ์  แปล  เรียบเรียงและตรวจชำระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ เป็นจำนวนมาก  อาทิ  ปทานุกรมพระไตรปิฎกฉบับบาลี-ไทย พระคัมภีร์กัจจายนมูล  คัมภีร์ปทรูปสิทธิ  คัมภีร์ธาตวัตถสังคหปาฐนิสสยะ การศึกษาเชิงวิเคราะห์พระคาถาธรรมบท       ด้วยความสามารถ ทำให้ต่างประเทศได้ถวายสมณศักดิ์อัครมหาบัณฑิต จากรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์  และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ  ในสาขาวิชาภาษาบาลี

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นพระมหาเถระผู้ทรงเมตตาธรรมและความรู้ กอปรด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ก่อให้เกิดประโยชน์ไพศาลแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีอย่างเป็นรูปธรรม  โดยการบริหารจัดการศึกษาทางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงแก่นแห่งพุทธศาสนา  ผ่านการศึกษาภาษาบาลี  อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขและขยายหลักพุทธธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกในปัจจุบัน
นอกเหนือจากการทุ่มเททำงานในด้านการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาและเผยแผ่ในกิจการของคณะสงฆ์ในฐานะผู้บริหารในระดับสูง จนประสบความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว  สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป  โดยการให้ทุนการศึกษาเล่าเรียนแก่นักเรียน  นิสิตและนักศึกษา  ปีละหลายร้อยทุนเป็นประจำทุกปี
ด้วยประจักษ์ในผลงานในเชิงการบริหารการศึกษาแล้ว  สมเด็จพระพุทธชินวงศ์  ได้ใช้ความรู้ความสามารถในเชิงการบริหารจัดการสร้างสรรค์  ส่งเสริม  สนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยและสังคมไทย  จนก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างดีเลิศ  และแผ่ประโยชน์เกื้อกูลไปยังนานาชาติอย่างหาประมาณมิได้สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์    สาขาวิชาบริหารการศึกษา  ประเภททั่วไป   แก่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์  อุปสมมหาเถระ)  เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

Most Popular

Categories

News

Related Posts

คณะนิเทศฯ SPU ต้อนรับ ผู้บริหาร ม.แม่โจ้ เยี่ยมชมการเรียนการสอน SPUCA 2.0 ผสานเทคโนโลยี-ความคิดสร้างสรรค์ เสริมแกร่งนักนิเทศศาสตร์ยุคใหม่

ผศ.มานินทร์ เจริญลาภ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ พร้อมคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศรีปทุม

‘อ.เมธี’ ร่วมเวที ‘AI for Teaching and Learning’ แชร์กรณีศึกษาการใช้ AI ยกระดับห้องเรียนยุคใหม่

อาจารย์เมธี วิเชียรสรรค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม

SPU ร่วมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านโลจิสติกส์อบรมหลักสูตร ‘Transport Safety Manager (TSM)’ เสริมศักยภาพบุคลากรขนส่งไทย

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA)