คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดงานเสวนา “วิศวกรรมป้องกันแผ่นดินไหว: บูรณาการมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม 1 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม (บางเขน) โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นประธานเปิดการเสวนา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
การเสวนาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักที่สำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างให้มีความปลอดภัยและยั่งยืนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยดังนี้
“Japanese Excellence in Earthquake-Resistant Design by SYNTEC X Taisei Corporation business partnership” โดยคุณนาโอฮิโตะ โอบะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จํากัด และ Mr. Masaaki Ota – General Manager International Projects Design Division, Taisei Corporation (Headquarters, Japan) การเสวนาครั้งนี้กล่าวถึงการออกแบบอาคารในประเทศไทยในปัจจุบันว่า สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่มีคาบสั้นได้อยู่แล้ว แต่ในอนาคต หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีคาบยาวมากขึ้น (long-period ground motion) แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเตรียมความพร้อมในกรณีนี้ คือการ Retrofitting หรือการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างเดิม เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งภายนอกและภายใน
“แผ่นดินไหวเปลี่ยนเกมออกแบบ! เมื่อมาตรฐานสากลกลายเป็นเกราะป้องกันชีวิต” โดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร จากสภาวิศวกร, รศ.ว่าที่ ร.ต.ดร.ศุภชัย สินถาวร จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ผศ.ดร.เอกชัย อยู่ประเสริฐชัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, รศ.เมธี บุญพิเชฐวงศ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, และ พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข สถาปนิกและนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในวงเสวนาได้พูดถึงการออกแบบโครงสร้างอาคารยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการควบคุมความเสียหายให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอาคารสำคัญที่ต้องสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
“อาคารเก่าก็เอาอยู่! รีโนเวตให้ทนไหว ต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืน” โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค จากบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาต่อตระกูล ยมนาคและคณะ จำกัด, รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ไพจิตร ผาวัน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, คุณสุวิชา เศวตศิลา จากบริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), และอาจารย์ไพบูลย์ ต้นศิริอนุสรณ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่วนหนึ่งของการเสวนาให้ความเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงหรืออาคารเตี้ย หากมีการตรวจสอบ ปรับปรุง และเสริมความแข็งแรงอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็สามารถทำให้ปลอดภัยและใช้งานได้อย่างมั่นใจ การเสริมโครงสร้าง (retrofit) สามารถทำให้อาคารเก่าแข็งแรงมากขึ้น พร้อมเปรียบเทียบว่า “เหมือนคนสูงวัยที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็สามารถกลับมาแข็งแรงเหมือนคนหนุ่มได้”
“แรงสั่นสะเทือน… เขย่ากฎหมาย! ก่อสร้างไทยพร้อมแค่ไหน?” โดย ศ.ดร.ณรงค์ เหลืองบุตรนาค จากบริษัท ฟิวเจอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, อ.ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ จากชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง, อ.นิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ จากสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, และอาจารย์กัมพล กิตติพงษ์พัฒนา จากชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง โดยได้วิเคราะห์บทบาทของกฎหมายในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการเตรียมความพร้อมทางกฎหมายในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
การเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในวงการวิศวกรรมและกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความพร้อมในการป้องกันแผ่นดินไหวในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยอย่างยั่งยืน
#SPU #คณะวิศวกรรมศาสตร์ #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #แผ่นดินไหว








