หลักนิติธรรม นามธรรมสู่ความเป็นรูปธรรมสำหรับสังคมไทย

ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ปกรณ์นิมิตรดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์

หลักนิติธรรม   หมายถึง  “หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย  ที่กฎหมาย  กระบวนการยุติธรรม หรือการกระทำใดๆ จะต้องไม่ฝ่าฝืน  ขัด หรือแย้งต่อหลักนิติธรรม”  โดยอาจจำแนกได้เป็น ประการคือ

  1. หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด หรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างแคบ
  2. หลักนิติธรรมโดยทั่วไป  หรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างกว้าง    

ข้อความจากหน้า 1 ของหนังสือหลักนิติธรรม   จัดทำโดย คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติ
ธรรมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบรรณาธิการหนังสือหลักนิติธรรม  ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ

กฎหมาย หลายๆฉบับ มักจะมีบทนิยามศัพท์กฎหมายอยู่ในวรรคแรกๆ ของกฎหมายฉบับนั้น  เพื่อให้นักกฎหมาย หรือ ผู้อ่านกฎหมายโดยทั่วไป ได้เข้าใจความหมายของศัพท์กฎหมาย  เมื่อได้อ่านเจอคำศัพท์กฎหมายในตัวบทกฎหมายฉบับที่เรากำลังอ่านอยู่     แต่ก็มีบ้างที่นิยามของศัพท์กฎหมาย ไปปรากฎซ่อนตัว ในตำแหน่งอื่นของตัวบทกฎหมาย เช่น อาจไปอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากมาตราแรก อย่างมาก ดังมาตรา 149 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ที่นิยามความหมายคำว่า  นิติกรรม  ไว้เป็นต้น
แต่ทว่า นิยามศัพท์ของคำว่า นิติธรรม กลับแทบจะหาไม่ได้ในกฎหมายแต่ละฉบับของไทยเรา  แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 วรรคสอง จะบัญญัติว่า    “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ศาล  รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”       การปฏิบัติหน้าที่อันจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม  จึงกลายเป็นประเด็นปริศนา หรือกลายเป็นเรื่องราวของการตีความตามทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ยามเมื่อเกิดประเด็นข้อพิพาทในสังคมไทย
ทั้งๆที่ ตำรากฎหมายไทยในอดีต ของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่สอนกฎหมายบางท่าน ก็เคยมีการให้คำอธิบายถึงความหมายของคำว่า นิติธรรม  ควบคู่กับคำว่า นิติรัฐ  อยู่   แต่เมื่อไม่ปรากฏคำอธิบายคำว่า หลักนิติธรรม ที่ชัดเจนในกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ความคลุมเครือ  หรือ การสร้าง นิยามตามทัศนคติของผู้ที่อ้าง “หลักนิติธรรม”   จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่นำมาซึ่งความสับสนแก่สังคม  เพราะต่างคนต่างคิด ต่างพูดในมุมมองของตน บางท่านเข้าใจผิดในความหมายของ หลักนิติธรรม  โดยการนำเอาหลักพระพุทธศาสนา มาบวก กับหลัก กฎหมาย ก็มี ซึ่งไม่น่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง
ในประเด็นปํญหาเรื่องของการบัญญัตินิยามศัพท์กฎหมาย ก็คือ หากมีการบัญญัติบทนิยามหรือบทวิเคราะห์ศัพท์ ที่ชัดเจน   อาจเป็นอุปสรรคต่อการตีความกฎหมายของผู้ใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม   เพราะหากนิยามศัพท์นั้น มีการบัญญัติไว้ไม่ครอบคลุม จะทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดความเป็นธรรมได้  ฉะนั้น  ที่ผ่านมา บางครั้งการร่างกฎหมาย  จึงมีการร่างกฎหมายในลักษณะที่เหมือนเปิดช่องให้ศาลตีความในอนาคตได้
ประเด็นปัญหาจึงมีอยู่ว่า  หลักนิติธรรม   1.ควรมีการกำหนดนิยามที่ชัดเจนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ  หรือที่อาจารย์บางท่าน แสดงความเห็นว่า ควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย หลักนิติธรรม เพื่ออธิบายความหมายของคำว่าหลักนิติธรรม     หรือ 2. ควรบัญญัติไว้ในลักษณะเปิดกว้าง คือพูดแต่เพียงว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม    เพื่อให้การตีความกฎหมาย หยืดหยุ่น สอดรับกับข้อเท็จจริงใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เมื่อคำว่า หลักนิติธรรม  เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมไทย รู้จักและใช้คำๆนี้ กันมากขึ้น  และมีทั้งใช้ผิด ใช้ถูกบ้าง  การศึกษา ค้นคว้าและการให้ความรู้ความเข้าใจ แก่ประชาชนและคนทั่วไป ในเรื่องหลักนิติธรรม คือ สิ่งที่ควรทำ  มากกว่า การปล่อยให้เป็นนามธรรม ที่รับรู้กันเฉพาะในแวดวงของนักกฎหมาย
คำบางคำแม้จะนิยามความหมายให้ครอบคลุมทั้งหมดได้ยาก  เช่น คำว่า ความดี ความถูกต้อง  ความยุติธรรม  ดีของคุณ กับดีของผม  อาจไม่เหมือนกันก็ได้ หากใช้ทัศนคติ และความคิดเห็นส่วนตัวมาจับเช่นเดียวกับคำว่า หลักนิติธรรม   ก็นิยามให้ครอบคลุมทั้งหมดได้ยาก   การศึกษาแนวความคิด จากต่างประเทศ  และการค้นคว้า หารูปแบบเฉพาะของหลักนิติธรรม ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย เพื่อให้เกิดจุดร่วมกันของผู้คนในสังคม เสียก่อน  น่าจะเป็นหนทางที่ดีทางหนึ่ง ที่จะทำให้หลักนิติธรรม ที่ยังคงมีสภาพเป็นนามธรรมอยู่  ได้พัฒนากลายเป็นรูปธรรมอันชัดเจน สำหรับสังคมไทย เสียทีกระมังครับ

ศิษย์เก่า

Most Popular

Categories