วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “The Future of Supply Chain Workforce: New Skills 2025” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มอาชีพในสายโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานยุคใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินรายการโดย ดร.สุวัฒน์ จรรยาพูน
เวทีเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงโลจิสติกส์และซัพพลายเชน อาทิ คุณณัฐติยาภรณ์ เวียงทอง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (LoSA) คุณนพรุจ ธรรมจิโรจ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบรรจุภัณฑ์ บริษัท WHA GC Logistics Co., Ltd. และ คุณโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ
คุณณัฐติยาภรณ์ เวียงทอง เปิดเผยว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในอนาคต ได้แก่ Digital Skill, Automation และ Data Analytics ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ราว 13-15% ของ GDP ซึ่งยังสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมเน้นย้ำว่า ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนการ Upskill และ Reskill แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันระดับโลก
ด้าน คุณโอมิกา บุญกัน เน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมของแรงงานให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ควบคู่กับความเข้าใจเทรนด์สำคัญของอุตสาหกรรม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย
ขณะที่คุณนพรุจ ธรรมจิโรจ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในแง่ของการปรับตัวและความเข้าใจต่อแนวโน้มระดับโลกอย่างแท้จริง และได้ชี้ให้เห็นถึง 5 ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางความต้องการแรงงานในสายโลจิสติกส์ในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ Smart Logistics และ Digital Supply Chain การขยายฐานการให้บริการในระดับภูมิภาค การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และการจัดการ B2C Fulfillment การบูรณาการการทำงานร่วมกับฝ่ายผลิตผ่านระบบ Inbound Logistics และการร่วมมือกับซัพพลายเออร์ ตลอดจนการขับเคลื่อนแนวคิดด้านความยั่งยืนและโลจิสติกส์สีเขียว (Sustainability & Green Logistics)
นอกจากนี้ คุณนพรุจ ยังเน้นย้ำว่า แรงงานยุคใหม่ควรพัฒนาตนเองให้เป็น “T-shaped Talent” ซึ่งหมายถึงการมีความรู้เชิงลึกในสาขาเฉพาะทาง ควบคู่กับความรู้รอบด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) พร้อมระบุว่า ภาคการศึกษาจำเป็นต้องมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับโลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง
พร้อมกันนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยในสองหัวข้อหลัก ได้แก่ Logistics Workforce และ Logistics Job & Career Path ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและทิศทางการพัฒนาอาชีพในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในอนาคต
อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของงาน คือ พิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ ศิษย์เก่าดีเด่น และ สถานประกอบการดีเด่นหลักสูตร Nondegree เพื่อยกย่องและเชิดชูบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสายงานโลจิสติกส์ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมศักยภาพบุคลากร และสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืนกับภาคอุตสาหกรรม
เรียบเรียง: PR SPU สำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีปทูม
#โลจิสติกส์ #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #ศรีปทุม #SPU #เรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริง #วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน















