ชลิตา หวานซึ้ง, สุพิชญา ทองมา, ภูริชญา จันทรวงศ์ และ อธิญากรณ์ ท่อนทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุมคิดค้นโครงงานพัฒนาธุรกิจจำหน่ายผักภายใต้แบรนด์ “ลานผัก” จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดโครงงานเพื่อพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตอุดมคติไทยในบริบทใหม่ ประจำปี 2567

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ “ลานผัก” เริ่มจากครอบครัวของ กั๊ง-ชลิตา ประกอบธุรกิจโรงงานตัดแต่งผักอยู่แล้ว ช่วงฝึกงานได้มีโอกาสลงพื้นที่กับเกษตรกร จึงพบว่าเกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาการกระจายสินค้า เนื่องจากการแข่งขันด้านราคานำมาสู่การคิดค้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างรถ และแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเกษตรกรแก้ปัญหา
โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยในการคาดคะเนการปลูกผัก การจัดการต้นทุนกำไร และการทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชากรในพื้นที่สูง ผ่านรูปแบบธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

ดร.พีรยา สุขกิจเจ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โปรเจกต์ลานผักมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ซึ่งเด็กๆ เขาเห็นถึงสภาพปัญหาของเกษตรกรในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง จึงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนในชุมชน
“อาจารย์ในคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจจะทำหน้าที่เป็นโค้ช ซึ่งแต่ละท่านจะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด เทคโนโลยี การเงิน ฯลฯ หน้าที่หลักของโค้ชคือต้องอ่านโปรเจกต์ของนักศึกษาให้ขาด ดูว่าเขาจะไปในทิศทางใด แล้วคอยแนะนำเขาให้ไปถึงในแนวทางที่ตั้งใจ”

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้ในยุคที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน และสิ่งที่นักศึกษาได้รับจากการทำโครงการนี้ คือ ทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการทดลองผิดทดลองถูก ได้ทักษะการทำงานแบบเป็นระบบ ประยุกต์การวิจัยทางการตลาด การเริ่มต้นธุรกิจ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ soft skills ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคต