การพัฒนาการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว
เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อย รวมถึงระดับความรุนแรงไม่สูงมากนักในประเทศไทย แต่การวิจัยและศึกษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้ก้าวหน้าและมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น อย่างเช่นโครงการพัฒนาการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ผลงานวิจัย โดย ศาสตร์จารย์ ดร. ไพบูลย์ ปัญญาคะโป ผู้อำนวยการหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และ วิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีอยู่ในแวดวงการพัฒนาการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยมาโดยตลอด
และหนึ่งในผลงานที่เป็นที่ภาคภูมิใจ นั่นก็คือการได้รับหน้าที่ดูแลการออกแบบอาคารเรียนของโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ในปี 2557 ที่มีระดับความรุนแรงสูงถึง 6.1 ริกเตอร์ สร้างความเสียหายให้กับอาคารเรียนแห่งนี้ทั้งหลัง จนเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทนอาคารเดิมที่ได้รับความชำรุดเสียหายจากเหตุธรณีพิบัติภัยในครั้งนั้น
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานแห่งความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวางรากฐาน อาคารต้านทานแผ่นดินไหว ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอย่างในภูมิภาคทางตอนเหนือของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชากรในแถบชนบท เพื่อเกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตของคนไทยทุกๆ คน อีกทั้งยังนำความปลาบปลื้มใจมาสู่ชาวรั้วมหาวิทยาลัยศรีปทุมทุกๆ คนที่ทาง ดร. ไพบูลย์ ปัญญาคะโป ได้รับพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งถือเป็นเพียงไม่กี่บุคคล โดยเฉพาะในสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติยศ ในความทุ่มเทวิริยะวิจัยศึกษาและค้นคว้าเพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติสืบไป