ผศ.ดร.สิรินธร สินจินดาวงศ์
ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เจ้าของรางวัล Best Practice ด้านการพัฒนาอาจารย์ จากมูลนิธิ TQM ประเทศไทยและเครือข่ายเพื่อการศึกษา
อยากให้อาจารย์เล่าให้เราฟังถึงรางวัลที่ได้รับค่ะ
เป็นรางวัลของการพัฒนาอาจารย์มืออาชีพ ซึ่งเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่ได้ทำอย่างจริงจัง โดยศรีปทุมได้มีการพัฒนามาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า SPU-PSF (SPU Professional Standards Framework) ซึ่งเทียบเคียงกับมาตรฐานระดับนานาชาติ อย่าง UKPSF (UK Professional Standards Framework)
โดยมาตรฐานดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 โดเมน คือ 1.ด้านองค์ความรู้ 2.กระบวนการจัดการเรียนรู้ 3.ด้านคุณค่าของอาจารย์มืออาชีพ 4.ด้านความสำเร็จของนักศึกษา
ซึ่งเป็นกลไกหลักในการพัฒนามาตรฐานอาจารย์ของทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม และยังช่วยเป็นแนวทางในด้านการเรียนการสอนแก่อาจารย์ โดยระดับของมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพมีอยู่ 4 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับเริ่มต้น 2. ระดับชำนาญ 3. ระดับชำนาญพิเศษ 4. ระดับเชี่ยวชาญ
ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอาจารย์เข้ารับการรับรองมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของ UKPSF จำนวน 5 ท่าน โดยผ่านการรับรองถึง 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ และอีกท่านหนึ่งคือ ดร.ไพบูลย์ สุขวิจิตร บาร์ จากคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งได้รับการรับรองในระดับ Senior Fellow
หากเทียบเคียงกับภาษาไทยก็เทียบได้ในระดับ ชำนาญพิเศษ
สำหรับในปีก่อนเราเคยมีโครงการ “The Teacher Project” ที่เน้นให้ อาจารย์เป็น coach หรือพี่เลี้ยงให้อาจารย์ เพื่อช่วยพัฒนาในด้านการสอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสื่อการสอน เทคนิคการสอน และปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษา
รางวัลกับการนำไปใช้
หากกล่าวถึงรางวัลที่ได้รับมาถือว่าเป็นปลายทางของเป้าหมาย โดยช่วยเป็นขวัญและกำลังใจให้กับอาจารย์ ส่วนเป้าหมายหลักหลังจากได้รับรางวัล คือ การต้องพัฒนาตนเอง คอยช่วยเหลือ ผลักดัน และพัฒนาผู้อื่นอยู่เสมอ เกณฑ์อีกอย่างหนึ่งของรางวัล UKPSF ในระดับ Senior Fellow คือ การต้องเป็นพี่เลี้ยง หรือ coach รวมถึงยังต้องบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาการเรียนการสอน
เป้าหมายสูงสุดของมาตรฐานคือการให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น การมีองค์ความรู้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีสิ่งสำคัญคือกระบวนการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่แผนการสอน เทคนิคการสอน รวมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน สิ่งจำเป็นคือการสื่อสารกับนักศึกษายุคใหม่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่อาจารย์ต้องพัฒนาตนเอง
สิ่งสำคัญที่นักศึกษายุคใหม่ต้องการคือการได้รับ
“feedback อย่างรวดเร็ว”
มาตรฐานของทางศรีปทุมได้เพิ่มข้อกำหนดเรื่อง Student Achievement คือการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียน และยังส่งเสริมผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในการทำงาน การได้ทำในสิ่งที่ชอบ หรือการได้รับรางวัล
อาจารย์มีมุมมองเกี่ยวกับการเรียนการสอนของนักศึกษายุคใหม่อย่างไร?
ต้องยอมรับว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ตัวเด็กเองก็เปลี่ยน ต้องยอมรับว่าเด็ก Generation ใหม่ได้เข้ามาแล้ว ด้านพฤติกรรมการเรียนก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนคนอื่น แต่จุดเด่นคือมีศักยภาพสูง มี Multi skills สามารถทำได้หลากหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ความสามารถในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองสูง หากอาจารย์ยังสอนในรูปแบบเดิมเด็กก็จะเบื่อ มีความรู้สึกไม่อยากเรียน จึงควรต้องเพิ่มสื่อเพื่อตอบโจทย์และกระตุ้นการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากยิ่งขึ้น เป็นการเรียนแบบ Active
สิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบันคือ Skills และทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม มีห้องทดลองเพื่อจะพัฒนาการสอนของอาจารย์ โดยการเปิดหลักสูตรนวัตกรรมการเรียนรู้และการสอน ในระดับปริญญาโท เป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เน้นการทำกิจกรรมและสังเกต Feedback จากตัวผู้เรียนว่าเกิดการเรียนรู้หรือเข้าใจหรือไม่ ทดสอบการเรียนแบบสองภาษาว่าเด็กต่างชาติสามารถเรียนรู้ได้จากกิจกรรม เป้าหมายคือเด็กสามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถขยายผลไปยังส่วนอื่นๆ ได้ โดยมีแผนการเปิดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ในอนาคต
เหนือสิ่งอื่นใดคือความภาคภูมิใจ
ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ มาช่วยเติมเต็มความเข้มแข็งให้อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนหน้านี้งานพัฒนาการเรียนการสอนเป็นเรื่องยากมาก พยายามดึงอาจารย์หลายท่านเพื่อมาเป็นแกนนำก็เป็นเรื่องยาก เป้าหมายหลักคืออยากให้ลูกศิษย์พัฒนาตนเองและสามารถเป็นกำลังสำคัญของสังคม เพื่อให้สังคมมีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อีกอย่างคือบัณฑิตของศรีปทุมสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติได้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก
“สุดท้ายแล้วคุณภาพของอาจารย์ก็คือคุณภาพของบัณฑิตและคุณภาพของเยาวชนไทยในอนาคต”