ดร. เกรียงไกร สัจจะหฤทัย
อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งเป็นยุคของการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดน มนุษย์ทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยการสื่อสารเพื่อความเข้าใจระหว่างกันต้องใช้ภาษาเป็นสื่อกลาง เช่น ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งภาษาอังกฤษถือว่าเป็นภาษาสากลที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร นอกจากการใช้ภาษาอังฤษในการติดต่อสื่อสารแล้ว ภาษาอังกฤษยังถูกนำมาใช้เป็นภาษาในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาษาอังกฤษไม่มีความสำคัญกับมนุษย์ในยุคนี้
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และในอนาคตอันใกล้นี้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนของประเทศไทยจะทำ ให้ภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่จากการสำรวจพบว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ต่ำจึงจำ เป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ (ณภัทร วุฒิวงศา, 2557)
ดังนั้น การพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ต้องพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของครูหรืออาจารย์ผู้สอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครูต้องใส่ใจต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างความกระตือรือร้นในการขวนขวายหาความรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ และนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยเหตุและผลข้างต้น จึงมีความสนใจในการศึกษากลยุทธ์การสอนภาษาอังกฤษพื้นฐาน ENG 111 โดยใช้แบบการเรียนรู้ของผู้เรียน
วัตถุประสงค์การศึกษา
- เพื่อศึกษากลยุทธ์การสอนภาษาอังกฤษพื้นฐาน ENG 111 โดยใช้แบบการเรียนรู้ของผู้เรียน
- เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาที่ได้รับการสอนกลยุทธ์การสอนภาษาอังกฤษพื้นฐาน ENG 111 โดยใช้แบบการเรียนรู้ของผู้เรียน
แนวคิดทฤษฏีที่ใช้ในการศึกษา
แนวคิดแบบการเรียนรู้ (Learning Style) ของ Haynes (2009) ที่ให้รายละเอียดว่า แบบการเรียนรู้ มี 3 ประเภท คือ
1) ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟัง (Auditory Learners) หมายถึง ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีจากการฟัง และสามารถจดจำสิ่งที่ฟังได้ ผู้เรียนประเภทนี้จะสนุกกับการพูดคุย สัมภาษณ์ การอ่านออกเสียง สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ Interviewing, Debating, Participating on a Panel, Giving Oral Reports, Participating in Oral Discussions of Written Material
2) ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการดู (Visual learners) หมายถึง ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีจากการดู และสามารถจำสิ่งที่ดูได้ ผู้เรียนประเภทนี้จะชอบการอ่านในใจ และการสังเกต กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ Computer Graphics, Maps, Graphs, Charts, Cartoons, Posters, Diagrams, Graphic Organizers and Text with a lot of Pictures
3) ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัส (Tactile Learners) หมายถึง ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัส พวกเขาจะเข้าใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือเขียน และเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำ กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ Drawing, Playing Board Game, Making Dioramas, Making Models, Following Instructions to make Something การสอนอ่านกับผู้เรียนกลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้ “The Language Experience Approach (LEA)” และ “The Whole Language Approaches”
จากแนวคิดดังกล่าว ผู้สอนได้พิจารณาลักษณะของผู้เรียนตามแนวคิดแบบการเรียนรู้ ของประชากรในการศึกษา แล้วพบว่า ประชากรที่ใช้ในการศึกษามีลักษณะการเรียนรู้ได้ดี 2 แบบ ได้แก่ ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟัง และลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการดู ทั้งนี้ผู้สอนได้ผสมให้ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัสเพิ่มลงในทั้ง 2 แบบ ดังนั้น การศึกษานี้จะมีแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน 2 แบบ คือ 1) ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟังและสัมผัส และ 2)ลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการดูและสัมผัส
วิธีดำเนินการศึกษา
แบบแผนการศึกษา
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองในสถานการณ์จริง ซึ่งมีแบบแผนการศึกษาดังนี้
E sec 32 33 : O1 X1 O2 |
E sec 86 : O1 X1 O2 |
หมายเหตุ : E หมายถึง กลุ่มทดลอง sec 32 33 และ 86
X1 คือ กลยุทธ์การสอนโดยใช้การสร้างทัศนคติที่ดี การสร้างแรงจูงใจ และการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้แบบ Auditory Learners และ Tactile Learners สำหรับ Sec 32 33 และ แบบการเรียนรู้แบบ Visual Learners และ Tactile Learners สำหรับ Sec 86
O1 คือ คะแนน Pre-Test
O2 คือ คะแนน Post-Test และพฤติกรรมของผู้เรียน วัดโดยการสังเกตพฤติกรรม ความกระตือร้น และการมีส่วนร่วม
ประชากรและตัวอย่าง
ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักศึกษาที่ลงทะเบียนวิชา ENG 111 ภาคการศึกษาที่ 1/2559 ในกลุ่มเรียนที่ 32 33 และ 86 จำนวน 67 คน เนื่องจากผู้สอนรับผิดชอบการสอนรายวิชาดังกล่าวของทั้ง 3 กลุ่มนี้ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลกับนักศึกษาทุกคน (Census) โดยแบ่งเป็นลักษณะผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟังและการสัมผัส คือ นักศึกษากลุ่มเรียน 32 และ 33 จำนวน 37 คน (เป็นนักศึกษาวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ) และผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการดูและการสัมผัส คือ นักศึกษากลุ่มเรียน 86 จำนวน 30 คน (เป็นนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดีย)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการสอน ครั้งที่ 12-15 คือ แผนการสอนครั้งที่ 12 เรื่อง Shopping แผนการสอนครั้งที่ 13 เรื่อง A wide world แผนการสอนครั้งที่ 14 เรื่อง Busy lives และแผนการสอนครั้งที่ 15 เรื่อง นิทรรศการ
กลยุทธ์การสอน ประกอบด้วย 1) กลยุทธ์การสร้างทัศนคติที่ดี โดยการใช้เทคโนโลยีมาประกอบการสอน เช่น การแชร์โพสต์เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษและคำศัพท์ในเฟสบุ๊ค กรุ๊ป ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และการตอบคำถามพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่นักศึกษาสงสัยผ่านทางไลน์กลุ่ม ซึ่งจะทำให้นักศึกษากล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงเพื่อสร้างความคุ้นชินกับผู้สอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ และจะส่งผลให้ผู้เรียนมีทัศนคติต่อรายวิชาภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น 2) กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจ โดยการตั้งเป้าหมายร่วมกันก่อนการเรียนในแต่ละครั้ง เพื่อสร้างแรงขับของผู้เรียน ให้ไปสู่เป้าหมายให้ได้ และ 3) กลยุทธ์การสอนตามแบบการเรียนรู้ ดังนี้
(1) การจัดการเรียนการสอนตามแบบการเรียนรู้แบบ Auditory Learners และ Tactile Learners สำหรับ Sec 32 และ 33 มีขั้นตอน ดังนี้ (แผนภาพ 1)
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเวลา 5 นาที ให้นักศึกษาซักถามกันระหว่างเพื่อนถึงกิจกรรมวันหยุดที่ผ่านมา โดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนให้นักศึกษาได้พูดคุยกันไปเรื่อยๆ โดยเน้นย้ำให้นักศึกษายังไม่ต้องกังวลเรื่องไวยกรณ์แต่ให้พูดสื่อสารกันอย่างเข้าใจก่อน
ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาสิ่งที่นักศึกษาสนใจหรือสื่อต่างๆ มาดึงความสนใจก่อนเข้าบทเรียน โดยการสอบถาม เล่าเรื่อง หรือยกตัวอย่างจากสังคมออนไลน์
ขั้นตอนที่ 3 ให้นักศึกษาเตรียมการสอน เพื่อสอนเพื่อนในชั้นเรียนตามหัวข้อที่ได้แบ่งไว้
ขั้นตอนที่ 4 อธิบายเสริมจากที่นักศึกษาได้เตรียมการสอนมา เนื่องจากสิ่งที่นักศึกษาได้เตรียมมานั้นอาจจะไม่ครบถ้วนหรือการสื่อสารยังไม่สามารถเข้าถึงนักศึกษาในชั้นเรียนได้ ดังนั้ นผู้สอนจึงต้องเสริมในสิ่งที่ยังขาดและยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพรวมตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน
ขั้นตอนที่ 5 ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะหากสอนแต่ไม่มีการสรุปบทเรียนอาจทำให้นักศึกษาไม่สามารถตกผลึกองค์ความรู้ได้ ดังนั้น ผู้สอนควรนำสรุปบทเรียนและเกริ่นนำเพื่อปูทางไปถึงบทเรียนครั้งต่อไป พร้อมแนะนำให้นักศึกษาได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ และนำสิ่งที่ค้นหามานั้นเล่าให้เพื่อนฟังในครั้งต่อไป และตอบข้อซักถามหากนักศึกษามีข้อสงสัย

แผนภาพ 1 การจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้แบบ Auditory Learners และ Tactile Learners
(2) การจัดการเรียนการสอนตามแบบการเรียนรู้แบบ Visual Learners และ Tactile Learners สำหรับ Sec 86 มีขั้นตอนดังนี้ (แผนภาพ 2)
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเวลา 5 นาที ให้นักศึกษาซักถามกันระหว่างเพื่อนถึงกิจกรรมวันหยุดที่ผ่านมา โดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนให้นักศึกษาได้พูดคุยกันไปเรื่อยๆ โดยเน้นย้ำให้นักศึกษายังไม่ต้องกังวลเรื่องไวยกรณ์แต่ให้พูดสื่อสารกันอย่างเข้าใจก่อน
ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาสิ่งที่นักศึกษาสนใจหรือสื่อต่างๆ มาดึงความสนใจก่อนเข้าบทเรียน และโยงให้เข้ากับเรื่องเกมส์และการออกแบบเพื่อดึงความสนใจ
ขั้นตอนที่ 3 ให้นักศึกษาออกแบบสื่อการสอน มาสอนเพื่อนในชั้นเรียนตามหัวข้อที่ได้แบ่งไว้
ขั้นตอนที่ 4 อธิบายเสริมจากที่นักศึกษาได้ออกแบบสื่อการสอนมาสอน เนื่องจากสิ่งที่นักศึกษาได้เตรียมมานั้นอาจจะไม่ครบถ้วนหรือการสื่อสารยังไม่สามารถเข้าถึงนักศึกษาในชั้นเรียนได้ ดังนั้นผู้สอนจึงต้องเสริมในสิ่งที่ยังขาดและยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพรวมตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน
ขั้นตอนที่ 5 ให้นักศึกษาออกแบบชิ้นงานตามหัวข้อของบทเรียน เช่น เรื่อง Part Sim ให้นักศึกษาออกแบบหนังสือการ์ตูนให้ตรงตามหัวข้อที่กำหนดไว้ จากนั้นผู้สอนนำสรุปบทเรียนและเกริ่นนำเพื่อปูทางไปถึงบทเรียนครั้งต่อไปพร้อมแนะนำให้นักศึกษาได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ และนำสิ่งที่ค้นหามานั้นมาเล่าให้เพื่อนฟังในครั้งต่อไป และตอบข้อซักถามหากนักศึกษามีข้อสงสัย
แผนภาพ 2 การจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้แบบ Visual Learners และ Tactile Learners