“กฎหมาย” หลายคนยังมองว่าไกลตัว เราไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย ทำไมต้องรู้ เพียงแค่เราอยู่ในบ้านก็มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องละ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว เกี่ยวกับการสมรส เกี่ยวกับมรดก บอกได้เลยว่าสาระพัดประมวลกฎหมายกันเลยก็ว่าได้ค่ะ ดังนั้นกฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรเรียนรู้นะคะ อย่างสุภาษิตโบราณที่ว่า …รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
ไม่ว่าจะทำงานสายไหนเราก็ควรเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพเรา อาจรู้แค่เบื้องต้นก็ยังดีเพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้อื่น แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกฎหมายที่นักบัญชีควรรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและองค์กร นักบัญชีเราจะรู้กันอยู่แล้วว่าต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข ซึ่งแน่นอนว่ามีความ…เสี่ยง! อย่างแน่นอน
ถึงแม้ว่าตัวเราจะมีความละเอียดมากแค่ไหนก็ตามต้องมีสักวันที่เราพลาด และอาจเป็นเหตุทำให้ตัวเราเองถูกโยนไปอยู่ท่ามกลางประมวลกฎหมายหลากหลายมาตราจนปวดหัว เพราะฉะนั้นว่าที่นักบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุมมาทางนี้ค่ะ มาเรียนรู้กฎหมาย 6 หมวดที่เราได้รวบรวมมาให้เข้าใจง่าย เพื่อเป็นเกราะให้กับนักบัญชีที่มีความละเอียดกับตัวเลขจนตาลาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ย่อว่า ป.พ.พ.)
กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายเอกชนที่ได้ว่าด้วยเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับเอกชนต่อเอกชน ตั้งแต่ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตจนตาย กฎหมายแพงของไทยได้บัญญัติไว้ในรูปแบบประมวลกฎหมายรวมกับกฎหมายพาณิชย์ หรือที่เรียกกันว่า กฏหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของตัวบุคคลอันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันการค้าและการเศรษฐกิจ โดยได้วางระเบียบเกี่ยวพันกับทางการค้าหรือธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การประกอบรับขน การตั้งหุ้นส่วนบริษัท เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตั๋วเงิน การซื้อขาย การจำนอง การจำนำ หรือการเช่าทรัพย์ เป็นต้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีทั้งสิ้น 6 บรรพ (บรรพ แปลว่า หมวด ภาค หรือตอน) คือ
บรรพที่ 1 หลักทั่วไป มาตรา 4-193 (ประมาณ 224 ข้อ, มาตรา 193 มีถึง 193/35) หมวดนี้เกี่ยวข้องกับ บุคคล นิติบุคคล สมาคม มูลนิธิ ทรัพย์ นิติกรรม ระยะเวลา (เงื่อนไขและเงื่อนเวลา) และอายุความ
บรรพที่ 2 หนี้ มาตรา 194-452 (ประมาณ 258 ข้อ) เกี่ยวข้องกับเรื่องหนี้ สิทธิเรียกร้อง บุริมสิทธิ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้อง การชำระหนี้ สัญญา การจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด
บรรพที่ 3 เอกเทศสัญญา มาตรา 453-1297 (ประมาณ 824 ข้อ, มาตรา 1273 มีถึง 1273/4 และยกเลิกมาตรา 1274-1297 เรื่องสมาคม ที่ย้ายไปอยู่บรรพ 1) หมวดนี้เกี่ยวข้องกับ การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ การเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน ยืม ฝากทรัพย์ ค้ำประกัน จำนอง จำนำ เก็บของในคลังสินค้า ตัวแทน นายหน้า ประนีประนอมยอมความ การพนันขันต่อ บัญชีเดินสะพัด ประกันภัย (ประกันวินาศภัยและประกันชีวิต) ตั๋วเงิน หุ้นส่วนและบริษัท (ห้างหุ้นส่วน มาตรา 1025-1095, บริษัทจำกัด มาตรา 1096-1273/4)
บรรพที่ 4 ทรัพย์สิน มาตรา 1298-1434 (ประมาณ 136 ข้อ) หมวดนี้เกี่ยวข้องกับ กรรมสิทธิ์ ครอบครอง ภาระจำยอม อาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
บรรพที่ 5 ครอบครัวมาตรา 1435-1598/41 (ประมาณ 204 ข้อ, มาตรา 1598 มีถึง 1598/41) หมวดนี้เกี่ยวข้องกับ การสมรส บิดามารดากับบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดู
บรรพที่ 6 มรดก มาตรา 1599-1755 (ประมาณ 156 ข้อ) หมวดนี้เกี่ยวข้องกับ การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก สิทธิในการรับมรดก พินัยกรรม การจัดการมกดก อายุความ
มีข้อสังเกตว่าในบรรพ 3 ลักษณะ 22 จะว่าด้วยบริษัทจำกัดซึ่งในหมวดนี้จะมีจำนวน 178 มาตรา ถือว่าน่าจะเป็นหมวดที่มีจำนวนมาตรามากที่สุดในป.พ.พ. แล้ว วิธีลัดคือ หากหน้าที่งานของเราเกี่ยวข้องกับเรื่องใดเราก็เจาะอ่านในมาตราที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ เช่น หากทำงานในบริษัทประกันภัย ก็เจาะอ่านบรรพ 3 ลักษณะ 20 ซึ่งแบ่งออกเป็นประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เป็นต้น หากทำงานเกี่ยวกับเงินๆทองๆหรือเช็ค ก็ต้องอ่านบรรพ 3 ลักษณะ 21 เรื่องตั๋วเงิน (ซึ่งมีทุกประเภทตั้งแต่ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน เช็ค การสลักหลัง การอาวัล)
โดยทั่วไปอย่างน้อยนักบัญชีควรอ่านบรรพ 3 ลักษณะ 22 ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การจัดตั้งบริษัท การถือหุ้น การจัดการบริษัท ซึ่งได้แก่ กรรมการ การประชุมใหญ่ บัญชีงบดุล เงินปันผลและการตั้งเงินสำรองตามกฎหมาย การสอบบัญชี การเพิ่มทุนและลดทุน การออกหุ้นกู้ (ซึ่งระบุว่าบริษัทจะออกหุ้นกู้ไม่ได้) การเลิกบริษัท การควบบริษัท การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด การชำระบัญชี
กฎหมายอยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อาจใกล้ตัวจนเราไม่เห็นความสำคัญต่างหากละ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรเรียนรู้ไว้เสียมากกว่า รู้ไว้เป็นความรู้เบื้องต้นเพื่อเป็นเกราะให้ตนเองและยังช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย อ่านมาจนจบแล้วใครมีไอเดียอยากเรียนบัญชี สามารถเข้ามาสอบถามเรื่องหลักสูตรและแผนการเรียนได้ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้เลยนะ ไม่ว่าจะสอบถามทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือว่าจะ walk in เข้ามาได้เลยค่ะ เพราะเราเปิดรับสมัครทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุด) ในเวลา 09.00 น. – 17.00 น. นะคะ