
อาจารย์เจ – ผศ.ดร. ณัฐกมล ถุงสุวรรณ
หัวหน้าสาขาวิชาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม
“ประสบการณ์การทำงานก่อนจะมาเป็นอาจารย์”
ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาค่อนข้างมีความหลากหลาย ในช่วงที่เรียนจบมาแล้วยังไม่ได้โฟกัสว่าอยากทำอะไรจริงจัง ยังอยากทดลองทำหลายๆ อย่าง มีความอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด เริ่มจากการทำงานในสายงานที่เรียนจบมา คือ ด้านการออกแบบเครื่องเคลือบดินเผาที่เกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบเลยรู้สึกชอบจนคิดว่าเราน่าจะมีทักษะการทำงานทางด้านนี้ได้ดีนะ และได้มาทำงานทางด้าน Computer Graphic ให้กับละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นอะไรที่ใหม่มากในการผสมผสานงานภาพ 3 มิติ ในละครทีวี และเป็นยุคเริ่มต้นของความนิยมพัฒนางาน 3D Animation ในประเทศไทย
หลังจากเรียนจบปริญญาโททางด้านการออกแบบ Multimedia ได้กลับมาทำงานด้านการ์ตูน 3D Animation ซึ่งเป็นช่วงเวลาบูมของวงการนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้เป็น Lead Animator ในการสร้างผลงานที่น่าจะเป็นที่รู้จัก เช่น การ์ตูนแอนิเมชัน 3 มิติ เรื่องจ๊ะทิงจา รามเกียรติ์ หนุมานชาญสมร เป็นต้น ในระหว่างนี้ได้จับงานทางด้านการออกแบบสื่ออินเทอร์แอคทีฟอย่าง เว็บไซต์ งานเกมอีเวนท์
จนได้มาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะดิจิทัลมีเดียสาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในระหว่างเป็นอาจารย์ที่นี่ก็ได้รับโอกาสให้ศึกษาต่อปริญญาเอก โดยมีความสนใจทางด้านเกมมิฟิเคชัน (Gamification) รวมถึงการนำในเรื่องของทุนวัฒนธรรมมาเป็นเนื้อหาของการเล่นเกม จึงได้นำมาเป็นหัวข้อในการศึกษาค้นคว้าและเป็นผลงานที่ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการนำมาถ่ายทอดต่อให้นักศึกษาด้วย
จุดเด่น “สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม” SPU
สาขาวิชาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับการสร้างเกมที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ และการเล่นเกมผ่านอุปกรณ์หลายรูปแบบ จุดเด่นของสาขาคือเราไม่ได้สอนแค่การทำเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟเฉพาะเพื่อความสนุกความบันเทิงเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างสรรค์เกมสำหรับสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ เช่น การตลาด การสร้างแบรนด์ การประชาสัมพันธ์ และการนำไปใช้ส่งเสริมกับอุตสาหกรรมอื่นด้วย โดยสร้างประสบการณ์การรับรู้ผ่านการเล่นและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
อีกหนึ่งจุดเด่นของสาขา คือ การสอนด้านอีสปอร์ตที่ครอบคลุมการทำงานเกือบทุกด้านในอุตสาหกรรม การจัดการอีสปอร์ตที่รวมทั้งเรื่องของการตลาด การประชาสัมพันธ์ การจัดการแข่งขันและการจัดอีเวนท์อีสปอร์ต ที่นักศึกษาสามารถทำเป็นทั้งในส่วนของงาน Production งานเบื้องหลังและเบื้องหน้าอย่างเช่น นักพากย์เกมการแข่งขัน ผู้ควบคุมการถ่ายทอดสด เป็นต้น
สาขามีการปรับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้นักศึกษาที่จบไปมีความสามารถตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากในสาขามีอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ทั้งในอุตสาหกรรมเกม สื่ออินเทอร์แอคทีฟ และอีสปอร์ต ดังนั้น หลักสูตรที่ออกแบบมานั้นสามารถสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะความเชี่ยวชาญที่ตอบโจทย์ความต้องการในการทำงานจริงได้อย่างแน่นอน
ความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการอยู่มากมาโดยตลอด เพื่อเป็นการผลิตบุคลากรออกไปอย่างมีคุณภาพการออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนจึงมีการเสริมองค์ความรู้และทักษะต่างๆ นอกเหนือไปจากคอนเทนต์หลักที่เราจะพัฒนานักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตอยู่ตลอดเวลา สอนตั้งแต่พื้นฐาน
“สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม”
เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ?
เริ่มจากปี 1 เป็นการเรียนรู้พื้นฐาน (Basic Skills) ด้านศิลปะและการออกแบบ ทักษะเบื้องต้นของการสร้างสรรค์งานอินเทอร์แอคทีฟและเกม เช่น รูปแบบของเกม การออกแบบตัวละครเบื้องต้น การเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
ชั้นปีที่ 2 เป็นการเรียนรู้ทักษะทางวิชาชีพที่จำเป็นในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม (Professional Skills) เช่น การออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม การเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนมากขึ้น การสร้างภาพทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ การทดลองสร้างสรรค์เกมในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
ชั้นปีที่ 3 เป็นการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเชิงลึกตามความสนใจเฉพาะด้าน (Specialized Skills) ทักษะทางวิชาชีพที่เสริมให้พัฒนาผลงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ การเรียนรู้และการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมเลือกเรียนกลุ่มวิชาเฉพาะด้านตามความสนใจ คือ ด้าน Game & Interactive หรือ Esports เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียนรู้ทักษะที่สูงขึ้น และสามารถสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ตามความสนใจและเป้าหมายในอุตสาหกรรม
ชั้นปีที่ 4 เป็นการประยุกต์ใช้ (Applied Skills) โดยนำองค์ความรู้และทักษะทั้งหมดที่เรียนรู้มาใช้กับการพัฒนาโครงงานส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเลือกทำงานในสถานประกอบการเพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานในเทอมสุดท้ายของการเรียน ซึ่งเป้าหมายหลักของการศึกษาในชั้นปีสุดท้ายนี้ นักศึกษาสามารถนำความรู้และทักษะทั้งหมดมาสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ มีประสบการณ์และความพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมจริงได้ทันที
พัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม!
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว อาชีพใหม่ๆ และตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลมากมาย และเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เช่น AI Game Designer, AR/VR หรือ Immersive Experience Designer เป็นต้น แต่อาชีพที่เป็นหลักในอุตสาหกรรมเกม อินเทอร์แอคทีฟ อีสปอร์ต ก็ยังมีความต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพกันอยู่อย่าง Game Designer, Game Developer, Game Programmer
หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับตัวตามเทรนด์ยุคใหม่ ส่งผลให้นักศึกษาที่จบการศึกษาในสายนี้มีศักยภาพที่จะก้าวเข้าสู่สายอาชีพที่หลากหลาย เช่น งานที่เกี่ยวกับการออกแบบเกมในโลกเสมือน (Virtual World) สร้างเกมอินดี้ (Indie Game Developer) นักออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์สำหรับนิทรรศการ (Interactive Exhibition) นักพากย์การแข่งขันเกม (Shout Caster)
เนื่องจากสื่ออินเทอร์แอคทีฟและเกมรวมถึงอีสปอร์ตกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ยังเชื่อมโยงไปสู่ภาคธุรกิจบันเทิง การศึกษา การตลาด การท่องเที่ยว ทำให้เกิดโอกาศทางอาชีพอีกมากมาย
“D Club”
นักศึกษารับงานได้ตั้งแต่ยังเรียน
พร้อมรับโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรม
D Club ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงนักศึกษาเข้ากับโอกาสในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งในด้านของโอกาสในการแสดงและพัฒนาความสามารถ และโอกาสในการมีรายได้ระหว่างเรียน จากการให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะจากการทำงานจริงในหลากหลายด้าน ดิจิทัลอาร์ตส์ กราฟิก แอนิเมชัน เกม และอีสปอร์ต
สำหรับในส่วนของสาขาอินเทอร์แอคทีฟและเกม รวมถึงด้านอีสปอร์ต นักศึกษาจะได้ร่วมพัฒนาโปรเจกต์หลากหลายรูปแบบตามทักษะความสนใจและความสามารถ เช่น การสร้าง AR / VR เพื่อใช้งานในภาคธุรกิจ การออกแบบ Mini Game สำหรับแคมเปญการตลาด หรือการจัดการกิจกรรมและพัฒนากลยุทธ์ในงาน Esports คณะให้ความสำคัญกับการฝึกฝนในสถานการณ์จริง ผลงานที่ลูกค้านำไปใช้จริง โดยมีทีมอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ทุกโปรเจกต์ใน D Club ไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้การทำงานอย่างมืออาชีพทั้งในด้านการวางแผนการทำงาน และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลในการทำงานต่อไปในอนาคต
และที่สำคัญคือ นักศึกษาสามารถมีรายได้จากการร่วมโปรเจกต์กับ D Club โดยได้รับจากลูกค้าโดยตรง และสามารถพัฒนาสร้าง Connection เพื่อทำงานต่อเนื่องกับลูกค้าได้
เทคโนโลยี AI
X
สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
การพัฒนาของ Generative AI ในทุกวันนี้ไม่เพียงแค่เสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้นักศึกษามีโอกาสพัฒนาไปพร้อมกับ ความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และเกมยุคใหม่ สร้างความได้เปรียบของการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เรามอง AI เป็นผู้ช่วยมืออาชีพที่ช่วยให้การสร้างสรรค์ผลงานได้เร็วขึ้น สามารถช่วยลดเวลาในกระบวนการทำงาน เช่น ในด้านของ Game Concept Art ผู้ช่วยอย่าง AI สามารถแปลงไอเดียให้เป็นภาพต้นแบบและทดลองปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภาพได้แตกต่างหลากหลายได้ในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการนำเสนอความคิดหรือการปรับปรุงงานก่อนนำไปปรับใช้สร้างเป็นผลงานจริง หรือด้านการเขียน Game Programming การใช้ AI สามารถช่วยแนะนำหรือแก้ไขโค้ดทำให้โปรแกรมเมอร์ทำงานได้เร็วขึ้นเนื่องจากเราสามารถใช้ AI ช่วยวิเคราะห์และเสนอการปรับปรุงได้แบบเรียลไทม์
อาจกล่าวได้ว่า AI เป็นผู้ช่วยในการเรียนและการทำงานที่ดีโดยที่ยังมีตัวเราเองเป็นผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และตัดสินใจในการพัฒนาผลงานต่างๆ
วิชาสุดคูล!
สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
วิชาส่วนใหญ่ของสาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกมเป็นวิชาที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านการออกแบบและการเขียน Coding ด้วย นักศึกษาต่างคณะถ้าเลือกมาเรียนอาจจะลำบากเล็กน้อยแต่ถ้าอยากมาลองเรียนกันดูก็ได้นะอาจารย์ช่วยอยู่แล้ว มีวิชาสนุกๆ อย่างวิชาการทดลองสร้างสรรค์อินเทอร์แอคทีฟและเกม ที่นักศึกษาจะได้ร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาเกมด้วยแนวทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์กันได้อย่างเต็มที่ และทางสาขากลุ่มวิชาเฉพาะด้านอีสปอร์ต เป็นชุดวิชาที่เราเปิดให้นักศึกษาทุกคณะสามารถมาเลือกเรียนได้ มีทั้งในส่วนของทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งไฮไลท์คือการเรียนแบบปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ อย่างการจัดทัวร์นาเมนท์อีสปอร์ต อีสปอร์ตอีเว้นท์ การถ่ายทอดสดการแข่งขัน การพากย์เกม เป็นต้น จัดจริงแข่งจริง มอบรางวัลกันจริงๆ จะมีวิชาไหนสุดคูลไปกว่านี้อีกนะ
> ทักษะที่ Dek SDM เชี่ยวชาญ <
ถ้ามองในภาพรวมของเด็กในคณะดิจิทัลมีเดีย ทักษะที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานสำหรับทุกคนน่าจะเป็นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์
ความเชี่ยวชาญที่เด็กดิจิทัลมีเดียส่วนใหญ่มีและได้รับคำชื่นชมจากผู้ประกอบการที่ได้ทำงานร่วมกับเด็กดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม คือ เรื่องของทักษะการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านการออกแบบ และทักษะการทำงานกับดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ เนื่องจากคณะเรามีอาจารย์พิเศษที่เป็นตัวจริงในวงการดิจิทัลมีเดีย เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จะเป็นทักษะที่ทันสมัยอยู่ตลอด เป็นสิ่งที่ใช้จริงในการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมใหม่ๆ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ ไม่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากซอฟท์แวร์และอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้จะมีการอัพเดทการใช้งานหรือฟีเจอร์การทำงานรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ได้รับการพัฒนาออกมาอยุ่เรื่อยๆ รวมถึงมีการใช้งานโปรแกรมที่หลากหลายในการทำงานจริงในอุตสาหกรรม ทักษะที่ดีในการใช้งานโปรแกรมและความรู้ในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีจะช่วยให้การปรับตัวและเรียนรู้ในการใช้งานโปรแกรมใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้ทำได้อย่างไม่ยากนัก
เด็กออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?
สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกมเป็นการเรียนรู้ทั้งในด้านของความเป็นศิลปะ ความงาม ความคิดสร้างสรรค์ และด้านของ Programming การใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นคนที่สนใจสาขานี้อย่างแรกต้องเป็นคนที่ชื่นชอบในเรื่องนี้ มีความอยากรู้อยากลองทำ แค่นี้ก็สามารถมาเรียนได้แล้ว เพราะเรื่องของทักษะต่างๆ ทางคณะจะสอนตั้งแต่พื้นฐานดังนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าไม่มีพื้นฐานจะเรียนไม่ได้ พัฒนาเป็นคนเก่งไม่ได้ เพราะที่นี่มีอาจารย์ที่พร้อมจะมอบความรู้และพร้อมให้คำปรึกษาให้คำแนะนำอยู่ตลอดถ้าเด็กมีพื้นฐานทักษะวาดรูป การใช้โปรแกรมหรือเขียนโปรแกรมมาบ้างแล้วจะเป็นส่วนช่วยให้ตัวเองพัฒนาได้เร็วมากขึ้น อาจารย์จะช่วยดึงศักยภาพให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและแสดงความสามารถของตัวให้ได้เต็มที่
อยากเป็น “เด็กทุนตัวจริง” SPU คณะดิจิทัลมีเดีย
ต้องเตรียม Portfolio อย่างไร?
ในแต่ละปีทางมหาวิทยาลัยจะมีทุนการศึกษาหลายประเภททั้งสำหรับนักศึกษาเรียนดีและดีเด่นด้านกิจกรรม ข้อกำหนดเกณฑ์การรับสมัครมีความแตกต่างกันไปสำหรับนักเรียนที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาใหม่ทางมหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาให้เรียกว่าทุนตัวจริง เป็นการให้ทุนเรียนฟรี 100% โดยให้ผู้สมัครเข้าเรียนส่งเอกสารรวบรวมผลงานที่เรียกว่า Portfolio เพื่อแสดงความสามารถ การเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญข้อแนะนำสำหรับการเตรียม Portfolio ต้องให้มีความโดดเด่น สามารถแสดงถึงศักยภาพของตัวเอง ควรมีการจัดวางรูปแบบที่น่าสนใจ เรียบเรียงการนำเสนอให้ชัดเจน เพื่อแสดงถึงทักษะเฉพาะตัวด้านต่างๆ ให้ชัดเจน แสดงตัวอย่างผลงานที่หลากหลาย แต่ละชิ้นงานควรมีการแสดงกระบวนการ (Process) การทำงานเพื่อเป็นการบอกถึง และเสริมด้วยการมีลิงก์หรือ QR Code เพื่อแสดงผลงานสำเร็จถ้างานชิ้นนั้นมีการเคลื่อนไหวหรือเกมที่ให้กรรมการสามารถทดลองเล่นได้ ไม่จำเป็นต้องใส่ผลงานที่ทำทุกชิ้น ให้เลือกผลงานที่โดดเด่นที่คิดว่าดีที่สุดใส่เข้ามาในพอร์ต ไม่ควรใส่ผลงานที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงต้องตรวจสอบให้ไม่มีความผิดพลาดในเรื่องของการสะกดคำผิดและลิงก์ที่ใช้งานไม่ได้
#SPU #showcase #DEKSPU #คณะดิจิทัลมีเดีย #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #Sripatum University #เรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริง #สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม #สมัครเรียนปริญญาตรี