เป้าหมายของสถาปนิกชุมชน คือ การสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาสภาพแวดล้อมในบริเวณชุมชนด้วยไอเดีย ความต้องการ และการลงแรงของคนชุมชน
การทำงานของสถาปนิกชุมชน จะอยู่ในรูปแบบของการลงพื้นที่ พูดคุยและติดต่อประสานงานกับคนในชุมชน โดยขั้นตอนการทำงานจะเหมือนกับการทำงานของสถาปนิกทั่วไป แต่จะมีจุดแตกต่างอยู่ 2 ช่วง ก็คือ ช่วงแรกที่เป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลความต้องการ ที่ต้องใช้การลงพื้นที่และวิธีต่างๆ หลากหลายเพื่อเข้าถึงคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด และช่วงที่สองที่จะเป็นขั้นตอนการออกแบบ ที่จะทำงานร่วมกับคนในชุมชนผ่านกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการออกแบบร่วม
โดยหัวใจสำคัญในการทำงาน ของอาชีพสถาปนิกชุมชนอยู่ที่กระบวนการการมีส่วนร่วม เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่การทำงานให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่คือการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยการสร้าง การมีส่วนร่วม ผ่านการสื่อสารกันระหว่างชุมชนในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดขึ้น
สถานที่ทำงาน: อาชีพสถาปนิกชุมชนจะทำงานในบริษัทที่รับงานด้านสถาปนิกชุมชนโดยเฉพาะ หรือองค์กรภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ทักษะหรือความสามารถที่ต้องมีสำหรับสถาปนิกชุมชน นอกจากพื้นฐานของสถาปนิกแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือทักษะในการพูด การฟัง และการสังเกต ที่เราต้องใช้ในการลงพื้นที่ชุมชน
นอกจากทักษะแล้วสิ่งที่สถาปนิกชุมชนจะต้องมี นั้นก็คือการเคารพในตัวผู้อื่น เพราะใจความสำคัญของงานนี้คือการสนับสนุนให้คนในชุมชนเห็นศักยภาพของตนเอง และเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจากตัวพวกเขา
ในช่วงแรกอาจจะเรื่มจากการเป็นสถาปนิกชุมชนที่ช่วยรุ่นพี่ทำโครงการก่อน จากนั้นเราก็อาจจะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นสถาปนิกชุมชนที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงการ หรือถ้าในหน่วยงานของภาครัฐเราก็อาจจะสามารถทำงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในฐานะนักวิชาการชำนาญการระดับต่างๆ
นอกจากนั้นยังสามารถย้ายสายงานเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ เนื่องจากสถาปนิกชุมชนไม่ได้ใช้แค่ทักษะในการออกแบบ แต่ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสาร การลงชุมชน การประสานงาน การจัดประชุม หรือการจัด workshop ทำให้เราสามารถขยับไปเป็นนักพัฒนาชุมชน ผู้ประสานงาน หรือนักจัดกระบวนการเรียนรู้ได้
นอกจากสถาปนิกชุมชนแล้วก็ยังมีอาชีพที่เยอะมาก ที่บอกเลยว่า ต้อง! ติด! ตาม!
ใครที่อยากรู้เรื่องของคณะสถาปัตยมากขึ้นสามารถอ่านรายละเอียดของ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ที่ : arch.spu.ac.th/
ที่มา : www.a-chieve.org/