สวัสดีค่ะ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ พี่ชื่อ ณัฐชา ราชวัตร ชื่อเล่น มอนนี่ ช่วงมัธยมพี่เรียนระบบกศน.ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสยามในพระอุปถัมภ์ฯ และได้สอบเทียบเท่าจึงจบมัธยมภายใน 4 ปี หลังจากนั้นพี่ก็เอาเวลาว่าง 2 ปีไปค้นหาตัวเอง ได้ลองหากิจกรรมใหม่ๆทำหลายอย่าง เช่น เรียนทำขนม เคยไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ด้วยนะเพราะคิดว่าตัวเองชอบสุดท้ายไม่ใช่ เลยพักเรียนแล้วไปหาอะไรสนุกๆ ทำบ้าง ก็เลยไปเรียนเต้น และระหว่างนั้นมีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งเต้นเวที To be number1 ด้วย เป็นช่วงที่ได้ค้นหาตัวเองจริงๆ หลังสนุกมาเยอะแล้วก็ลองทำงานหาประสบการณ์บ้าง
จุดเริ่มต้นการค้นพบตัวเองก็มาจากการทำงานนี่แหละ พี่ได้ทำงานที่ร้านขนมแบรนด์ญี่ปุ่นซึ่งต้องทำงานกับคนญี่ปุ่นโดยตรง ตอนนั้นก็ไม่รู้ภาษาเลย รู้เพียงว่าชอบจัง ภาษาน่ารักจัง อยากพูดได้บ้าง บวกกับมีความประทับใจระบบการทำงานของคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่มีสาขาภาษาญี่ปุ่น จะได้เรียนภาษาญี่ปุ่นแล้วได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นในอนาคต แต่หลักๆ คือได้ไปเที่ยวต่างประเทศด้วย พอตัดสินใจได้แล้วก็เริ่มค้นหาข้อมูลจากหลายๆมหาวิทยาลัย ดูรายละเอียดหลักสูตรเยอะมาก สุดท้ายเลือกที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเพราะน่าสนใจที่สุด ตรงที่ได้เรียนภาษาและได้เรียนธุรกิจด้วย ไม่มีพื้นฐานก็สามารถเรียนได้ คือตอบโจทย์ตรงตามความต้องการทุกอย่างเลยเลือกเรียนที่นี่ค่ะ
ปัจจุบันพี่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม รหัส 61 เพราะเป็นหลักสูตร 4 ปีก็เลยยังไม่จบค่ะ ต้นเดือนมกราคม 2565 จะเป็นช่วงฝึกงานพอดีรู้ตื่นเต้นมากๆ เพราะได้ฝึกที่บริษัทญี่ปุ่นก็จะได้ใช้ภาษาอย่างที่เรียนมาแบบจริงๆ จังๆแล้ว โดยปกติสาขาJBC จะมีโครงการศึกษาไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพราะมหาวิทยาลัยมี MOU กับบริษัทญี่ปุ่นเยอะแยะมากมาย แต่ด้วยสถานการณ์โควิดปีนี้เลยไม่ได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศกัน รู้สึกเสียดายมากๆ เลย
มาทำความรู้จักอาจารย์ในสาขานี้กันค่ะ ต้องบอกก่อนว่าเด็กสาขาJBCจะเรียกอาจารย์ทุกท่านว่า “เซนเซ” ที่แปลว่าครู, อาจารย์ เดี๋ยวจะมารีวิวความน่ารักของเซนเซแต่ละท่านกันค่ะ
เซนเซคนญี่ปุ่นจะมีทั้งหมด 3 ท่าน คือ โมริเซนเซ เป็นหัวหน้าสาขา อากิเซนเซ และ ทาเคมูระเซนเซ ทาเคมูระเซนเซคือเซนเซที่ปรึกษาของพี่เอง ส่วนเซนเซคนไทยจะมี 3 ท่านเช่นกัน คือ ยอดเซนเซ อ็อฟเซนเซ คินเซนเซ
เซนเซแต่ละท่านจะมีสไตล์การสอนที่แตกต่างกัน ถ้าได้เรียนกับเซนเซคนญี่ปุ่นสามารถชวนคุยได้ตลอดเป็นการฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นไปในตัว เซนเซคนญี่ปุ่นจะฟังพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย ถ้าใช้คำยากไปอาจจะสื่อสารไม่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นคุยเป็นภาษาญี่ปุ่นดีที่สุด และเซนเซใจดีมากๆ ขอคำปรึกษาได้เสมอโดยเฉพาะอากิเซนเซเป็นคนที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษานักศึกษาตลอด ในการเรียนการสอนเซนเซจะเป็นคนที่สอนตามแบบแผนได้เป๊ะสุดๆ สามารถจัดสรรนักศึกษาแบ่งกรุ๊ปสอนได้อย่างทั่วถึง บอกได้เลยว่าทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเรียนแน่นอน แล้วเซนเซมักจะมีกิจกรรมในชั้นเรียนให้ทำรวมกันตลอด เช่น เล่นไพ่คำศัพท์ เติมคำศัพท์ สลับบทบาทพูดบทสนทนา A,B ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เรียนสนุกไปในตัว
ต่อไปเป็น ทาเคมูระเซนเซ ท่านเป็นคนที่ใจดีมากๆ ถึงจะสื่อสารภาษาไทยไม่เก่งเท่าอากิเซนเซ แต่ทาเคมูระเซนเซรับฟังและคอยช่วยเหลือเสมอ ในการเรียนการสอนเซนเซจะใช้วิธีการสอนก่อนแล้วถามตอบเป็นคนๆ ถ้าใครตั้งใจเรียนแต่ยังไม่เข้าใจเซนเซจะคอยช่วยจนกว่าจะตอบได้ด้วยตัวเอง ถึงจะกดดันแต่ก็ทำให้เข้าใจเนื้อหาการเรียนได้ ฝึกการตอบโต้ ความมั่นใจไปในตัว เป็นเซนเซที่น่ารักที่สุดเลย โมริเซนเซจะเป็นหัวหน้าสาขาและเป็นเซนเซที่จริงจังที่สุด เซนเซจะไม่ค่อยพูดภาษาไทย ให้ความรู้สึกเหมือนได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นจริงๆ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของเซนเซเอง ที่อยากให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การร่วมกับคนญี่ปุ่นเพื่อที่จะได้ปรับตัวเข้าสู่สังคมทำงานกับคนญี่ปุ่นซึ่งในอนาคตยังไงก็ต้องทำงานกับคนญี่ปุ่นอยู่แล้วจะได้วางตัวถูกและไม่ตกใจกับความแตกต่างของวัฒนธรรมและลักษณะของบุคคล
ในส่วนของเซนเซคนไทย ยอดเซนเซกับอ็อฟเซนเซ จะเป็นสายดูแลกิจกรรมของสาขา ได้แก่ งานคอสเพลย์ งานประกวดร้องเพลง แข่งสุนทรพจน์ ต้อนรับรุ่นน้องสาขา เซนเซทั้ง 2 ท่านดูแลและให้คำปรึกษาดีมากๆ แถมยังเข้าถึงง่าย เวลามีปัญหาอะไรก็จะช่วยเหลือเต็มที่เลย ส่วน คินเซนเซ เคยเรียนด้วยครั้งเดียวเป็นเซนเซที่สอนละเอียด อธิบายเนื้อหาแบบแน่นๆ ถ้าไม่เข้าใจก็ถามได้เหมือนกันเซนเซจะอธิบายให้
มาต่อกันด้วยวิชาที่น่าเรียนดีกว่า ส่วนตัวพี่ชอบวิชาการแปลและวิชาวัฒนธรรม แต่ถ้าที่น่าเรียนสุดๆ ก็คงเป็นวิชาการนำเสนอ เพราะได้จับกลุ่มทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยโทคุโชคุของประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 เทอมเต็ม ทุกเช้าวันพฤหัสบดีก็จะเริ่มประชุม Zoom กันแล้ว คุยงานเสร็จก็คุยเล่นกันต่อทำให้ได้เพื่อนใหม่ได้คุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นจริงๆ สนุกสุดๆ ไปเลย อุปกรณ์/เครื่องมือ ที่ใช้เรียนถ้าเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ไม่มีอะไรมากเพราะที่มหาวิทยาลัยมีครบทุกอย่างไปใช้บริการที่ห้องสมุดได้เลย มีคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้น 3 – ชั้น 7 ส่วนที่ต้องเตรียมไปเองก็มีพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น ดินสอ ปากกาดำ สมุดโน้ต แต่ถ้าใครมีไอแพดก็สามารถใช้ไอแพดจดแทนก็ได้ แต่ถ้าได้เรียนออนไลน์เพราะสถานการณ์โควิดก็เลือกใช้โน้ตบุ๊ค ไอแพด หรือโทรศัพท์เรียนได้เลย สาขาเราจะมีกลุ่มไลน์ของแต่ละวิชาเอาไว้เพื่อสื่อสารกับเซนเซประจำวิชานั้นๆ
พูดถึงรุ่นพี่กันบ้างตัวพี่จะสนิทกับรุ่นพี่สาขาอังกฤษมากกว่า นั้นก็เพราะด้วยความตัวเองเป็นไม่ชอบอยู่เฉยเลยหาอะไรใหม่ๆ อะไรที่ไม่เคยทำ และในตอนปี 1 พวกพี่เขาก็ชวนมาสมัครเป็นคณะกรรมการนักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ (Staff) ก็เลยลองดู แล้วได้ทำกิจกรรมเยอะมาก ทำร่วมกับพี่เขาบ่อยๆ เลยสนิทกัน ปรึกษาได้ ขอความช่วยเหลือได้ มีความเป็นกันเอง แหย่เล่นได้ตลอดแบบไม่มีกำแพงกั้น ถึงจะขอคำปรึกษาในเรื่องการเรียนภาษาญี่ปุ่นไม่ได้แต่วิชาบังคับอื่นๆ ปรึกษาได้หมดเลยพี่ๆ เขาผ่านมาก่อนแล้ว ขอหนังสือมาเรียนต่อได้อีกด้วย เพราะStaff ไม่จำกัดสาขาที่สมัครเลยรู้จักพี่ๆ (ส่วนมากเป็นพี่สาขาอังกฤษ) เพื่อนๆ ต่างสาขามากมาย แถมมีเพื่อนต่างคณะด้วยนะ รู้ตัวอีกทีพอขึ้นปี 2 ตัวเองก็กลายเป็นเด็กกิจกรรมไปโดยปริยาย
เล่าเรื่องเพื่อนบ้าง พี่มีเพื่อนเยอะมากๆ ไม่เคยเหงาเลย แล้วเพื่อนก็ดีกับเราทุกคนประทับใจเพื่อนจริงๆ เพื่อนกลุ่มนี้อยู่สาขาอื่นหมดเลย เป็นเพื่อนกลุ่มแรกในรั้วมหาวิทลัยด้วย กิจกรรมที่ทำด้วยกันก็เป็นการเล่นเกม ร้องคาราโอเกะ กินบุฟเฟต์ ปรึกษาปัญหาหัวใจ เล่นบอร์ดเกม
ส่วนเพื่อนในสาขาญี่ปุ่นที่สนิทก็มาจากเพื่อน Staff ด้วยกัน ด้วยความที่เป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีเลยสนิทกันหมดเลย รีวิวกลุ่มเพื่อนตัวเองสักนิด รู้สึกว่าเราโชคดีมากที่ได้เพื่อนดีๆ คอยช่วยเหลือเสมอ พึ่งพาอาศัยกันได้ ตัวพี่เองไม่ได้เก่งภาษาญี่ปุ่นเรียกได้ว่าไม่มีพื้นฐานเลย แต่เพื่อนก็คอยช่วยเหลือตลอด พาติว ช่วยสอนเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ คบกันแบบเอื่อยเฉื่อยพากันเรียนแต่ไปได้ไกล อยากขอบคุณเพื่อนๆ จริงๆ
นอกจากเพื่อนในสาขาJBC แล้ว ก็มีเพื่อนจาก Staff ด้วยกันอีก ความสัมพันธ์คือสนิทกันมากๆ ทำกิจกรรมคณะด้วยกัน รวมหัวกันคิดกิจกรรมคณะ เป็นอะไรที่เหนื่อยแต่สนุกรู้สึกเหมือนผ่านอะไรกันมาเยอะ ทะเลาะกันบ่อยเป็นซิกเนเจอร์แต่ก็คอยห่วงใยดูแลกันตลอด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอยู่ด้วยเยอะที่สุดในช่วง 4 ปี มันมากจนเกิดเป็นความผูกพันแล้วก็ว่าได้
พูดถึงบรรยากาศภายใน ม.ศรีปทุม ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ เดินได้ไม่นานก็ทั่วมอแล้วทำให้รู้สึกว่ามีคนพุ่งพล่านมาก มีคนเยอะ แต่จุดเด่นคือในแต่ละโซนจะเป็นที่ที่เด็กแต่ละคณะชอบอยู่ประจำที่ ทำให้หากันเจอง่ายมาก มุมถ่ายรูปก็เยอะ เดินเปลี่ยนตึกก็ไม่เหนื่อยสบายเลย
การเดินทางไปมหาวิทยาลัยของพี่คือสบายๆ ปี 1-3 พี่ขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนบ้าง นั่งรถเมล์บ้าง ร้อนหน่อยหน่อย แต่ในปัจจุบันมี BTS หน้ามหาวิทยาลัยแล้วด้วยนะ ชื่อว่าสถานีบางบัวเจ๋งสุดๆ เดินทางสะดวก ชิลๆเลย ไม่ต้องทนร้อน ถ้าใครไม่สะดวก BTS ก็มีการเดินทางแบบอื่นด้วย ได้แก่ รถเมล์ วิน แท็กซี่ รถส่วนตัว (นักศึกษาจอดฟรีด้วยแหละ)
ต่อไปเรื่องชุดยูนิฟอร์มแน่นอนอยู่แล้วคณะศิลปศาสตร์ต้องไม่เหมือนใคร ชุดยูนิฟอร์มหลักๆก็เป็นชุดนักศึกษาปกติ จะมีพิเศษขึ้นมาเป็นชุดสูทของคณะสำหรับสัมมนาหรือออกนอกสถานที่ พรีเซ็นงาน และชุดสุดท้ายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคณะเลย นั่นก็คือเสื้อส้มสุดจี้ดน้องปี 1 ที่ทุกคนต้องมี
ขอเล่าเพิ่มเรื่องการแต่งตัวตามเพศสภาพที่มหาวิทยาลัยนี้ไม่บังคับเลยทุกคนสามารถใส่ชุดนักศึกษาแบบไหนก็ได้ที่ต้องการตามคอนเซ็ปท์อย่างที่ท่านอธิการบดีกล่าวไว้ว่า “ที่นี่เป็น มหาวิทยาลัยของคนรุ่นใหม่“ ผู้หญิงจะใส่กางเกงหรือผู้ชายจะใส่กระโปรง สามารถแต่งได้หมดแค่ต้องถูกกาลเทศะไม่โป๊เกินงามเวลาเข้าพบผู้ใหญ่ ทุกคนต้องรู้จักเซฟตัวเอง
สุดท้ายพี่อยากจะฝากถึงน้องๆ ที่มาเรียนคณะศิลปศาสตร์ ถ้าน้องชอบภาษาเข้ามาเรียนที่นี่ได้เลย ที่นี่ไม่ได้สอนแค่ภาษาแต่ยังสอนให้นำไปใช้ในวงการธุรกิจได้อีกด้วย ถ้าไม่มีพื้นฐานแต่อยากเรียนก็เข้ามาได้ พี่ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่มีพื้นฐานเพราะปี 1-2 จะได้เรียนปรับพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ต้องตั้งใจเรียนด้วยนะ เรื่องกิจกรรมไม่ต้องห่วงเลย กิจกรรมของคณะไม่มีการบังคับเพื่อความสมัครใจล้วนๆ ใครอยากทำ ทำ ใครไม่อยากทำ ไม่ต้องทำ ส่วนกิจกรรมสาขาก็เช่นกัน จะมีบ้างที่บางกิจกรรมต้องเข้าร่วมเพราะเป็นส่วนนึงในวิชา แต่ไม่ต้องกังวลถ้าได้ลองทำแล้วจะสนุกเอง สุดท้ายแล้วที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเขามีแจกทุนเยอะและแจกทุกปี ถ้าขยันและมีวินัย เรื่องค่าเทอมก็ไม่ต้องกังวลแล้ว เรียนเต็มที่ เรียนให้สนุก เรียนแบบได้ใช้ชีวิต เรียนรู้การเข้าสังคม มาเรียนเลยที่ศรีปทุม
ช่องทางการติดต่อพี่ หากน้องๆ มีข้อสงสัยอะไรก็ทักมาพูดคุยกับพี่ได้นะแอดเพื่อนหรือติดตามมาได้เลย
IG : Natcharat_mnie
FB : Monnie Ratchawat