ชอบเรียนจีน แต่ยังหาวิธีการที่ช่วยในเรื่องของการจำไม่ได้ใช่ไหมคะน้องๆ
มาดูทางนี้ค่ะ พี่แอดมินหาทริคเด็ดโดนใจมาเสิร์ฟให้แล้ว!!
‘ฟังให้มาก’
การพัฒนาทักษะการฟังเป็นสิ่งสำคัญอันดันต้น ๆ ของการเรียนรู้ภาษา และคำแนะนำจาก Chris Lonsdale คือคุณต้องหัดฟังให้มากเข้าไว้ (แม้ว่าจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ตาม) เพราะการฟังจะช่วยให้คุณซึมซับรูปแบบประโยค คำศัพท์ และการออกเสียงได้ดีกว่าการท่องจำจากตำราเรียนค่ะ ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งการฟังเพลง ดูหนัง ดูข่าว หรือการฟังคนคุยกันก็ช่วยได้ดีไม่น้อยเลยค่ะ
‘ทำความเข้าใจภาษา’
ลืมเรื่องการจำความหมายของคำศัพท์ไว้ทีหลังก่อนนะคะ เพราะการทำความเข้าใจภาษาในข้อนี้ หมายถึงการทำความเข้าใจจากภาษากาย (Body language) ก่อนนั่นเอง เช่น หากคนเราจะปฏิเสธอะไรบางอย่าง ปฏิกิริยาของเราก็จะใช้การโบกมือ หรือถ้าอยากบอกว่าใช่หรือเห็นด้วย ก็จะใช้การพยักหน้าเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกออกมา และเมื่อเราเข้าใจคำศัพท์และถ่ายทอดออกมาผ่านภาษากายบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้จำคำศัพท์ได้แม่นยำยิ่งขึ้นค่ะ
‘ฝึกหยิบคำมาแต่งประโยค’
การเริ่มหยิบจับคำศัพท์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำนาม คำกริยา หรือคำเชื่อม มาผสมรวมกันเกิดเป็นคำใหม่หรือเป็นประโยค จะช่วยให้คุณจำโครงสร้างประโยคหรือไวยากรณ์ได้รวดเร็วกว่าการท่องจำ แนะนำว่าให้ลองคิดดูก่อน ยังไม่ต้องยึดติดกับตำรา หากผิดตรงไหนเราค่อยกลับไปแก้ไขให้ถูกต้องค่ะ
‘เพิ่มคลังคำศัพท์’
หากคุณรู้คำศัพท์ 1000 คำ จะสามารถครอบคลุมถึง 85% ของคำที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน และหากคุณรู้คำศัพท์ 3,000 คำ นั่นจะสามารถครอบคลุมถึง 98% เลยทีเดียว ดังนั้นกุญแจของการสื่อสารภาษาจีนได้แบบคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ คือคุณต้องเรียนรู้คำศัพท์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งรับรองว่าคุณจะสามารถใช้ภาษาจีนได้แบบสบาย ๆ เลยค่ะ
‘หาเพื่อนฝึกภาษา’
อะไรจะทำให้การเรียนภาษาพัฒนาได้รวดเร็วไปกว่าการได้ใช้สื่อสารในทุก ๆ วัน การเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะได้ใช้ภาษาจีนบ่อย ๆ สามารถช่วยให้คุณพัฒนาทักษะทางภาษาได้เร็วกว่าที่คิด ถ้าไม่มีเพื่อนที่ใช้ภาษาจีนให้ฝึกด้วยก็อาจลองมองหาแอพฝึกภาษากับชาวต่างชาติดูก็ไม่เลวนะคะ เพราะนอกจากจะได้เพื่อนใหม่แล้วคุณยังได้ฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วย
‘เลียนแบบการออกเสียงให้เป๊ะ’
ข้อนี้เสริมจากการฝึกฝนทักษะการฟังในข้อแรกที่เราเพิ่งกล่าวไปค่ะ การฝึกเลียนแบบการออกเสียงตามเจ้าของภาษานั้นนอกจากจะฝึกออกเสียงตามเสียงที่เราได้ยินแล้ว การดูรูปปากและวิธีการออกเสียงแต่ละคำก็มีความสำคัญกับการออกเสียงให้ได้ถูกต้องตามเจ้าของภาษา และยังทำให้สื่อสารได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วยนะคะ
‘หัดจำคำศัพท์จากรูปภาพ’
มีงานวิจัยยืนยันว่าการจดจำคำศัพท์ผ่านการท่องจำและการเขียนซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าสมองจะจำได้ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการจำผ่านการเชื่อมโยงความหมาย อารมณ์ของคำเข้ากับรูปภาพ เช่น 火 (Huǒ) หมายถึง ‘ไฟ’ ซึ่งหากเราสังเกตดี ๆ ตัวอักษรจะมีรูปทรงคล้ายกับเปลวไฟจริง ๆ ค่ะ อักษรหลายคำในภาษาจีนถูกสร้างขึ้นจากอักษรภาพ ดังนั้นหากลองได้จดจำอักษรหรือคำศัพท์จีนเป็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์แทน ก็จะสามารถช่วยให้จำได้มากขึ้นและแม่นยำขึ้นกว่าที่เคยค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ พอจะช่วยได้บ้างหรือเปล่า
อาจหยิบแค่บางทริคมาใช้ก็ได้นะ หาวิธีที่ใช่แล้วลุยเลยค่ะน้องๆ
สนใจ #สาขาภาษาจีนสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมตามนี้เลย https://www.spu.ac.th/fac/liberal-arts/th/program/15/
ข้อมูลจาก : globish.co.th