ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ความครบถ้วนของตัวเลขในบัญชี เอกสารทางการเงินต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ ช่วยประเมินฐานะทางการเงิน ประเมินความเสี่ยง ตรวจหาข้อผิดพลาด การทุจริต มีผลต่อการบริหารและใช้ทรัพยากรต่างๆ ในอนาคต
หน้าที่ของผู้ตรวจสอบบัญชี คือการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของบัญชี ตรวจสอบเอกสารทางการเงิน การโอนรายการต่างๆ หลักทรัพย์ที่ซื้อขาย รายการบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท ใบเสร็จ รายการสิ่งของ ยอดเงิน ต้นทุน สินทรัพย์ หนี้สิน กำไร ค่าเสื่อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
– ลูกค้า โดยลูกค้าที่ต้องพบเจอมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคนที่เราจะต้องเข้าไปพูดคุยมากที่สุดคือบัญชีของบริษัทนั้นๆ ทั้งเรื่องการขอเอกสาร และการสอบถามข้อมูล
– เพื่อนร่วมงานในบริษัท รวมไปถึงหัวหน้างานและคนดูแลโปรเจคงาน
– ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในแต่ละธุรกิจจะใช้ความรู้ที่แตกต่างกัน บางครั้งต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับคนทำงานเพื่อถามข้อมูลเชิงลึกนำมาประกอบการพิจารณางบบัญชีเพื่อความถูกต้อง
ความก้าวหน้าทางอาชีพ เริ่มจากขั้นแรกในการเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี โดยจะต้องยื่นคำข้อแจ้งการฝึกหัดงานต่อสำนักงาน ก.บช. ในทันทีที่เริ่มฝึกหัดงานเพื่อนับระยะเวลาและจำนวนชั่วโมง ฝึกหัดงานสะสมประสบการณ์จบครบ จากนั้นไปยื่นสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี หรือ CPA (Certified Public Accountant) เมื่อครบตามเงื่อนไข และผ่านการสอบตามกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี ก็สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อสำนักงาน ก.บช. เพื่อออกใบอนุญาต โดยในลำดับทางสายอาชีพ จะเริ่มต้นจากระดับปฏิบัติการทั่วไป และขึ้นไปในลำดับอาวุโส จากนั้นจะขยับเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและเป็นผู้จัดการตามลำดับ
เห็นแบบนี้แล้ว Dek บัญชี ก็อย่าลืมเตรียมตัว เตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกงานและทักษะต่างๆ ด้านบัญชีกันด้วยนะ
สามารถอ่านหลักสูตร ข่าวและกิจกรรมของคณะบัญชีได้ที่ : www.spu.ac.th/fac/account/