สถาปนิก เป็นอีกอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง คนอาชีพนี้ไม่ได้แค่มีหน้าที่ออกแบบอาคารหรือคุมงานก่อสร้างให้ได้ดังที่ลูกค้าต้องการ
แต่หมายถึงการรับผิดชอบของสิ่งที่เราออกแบบไปด้วย
เป้าหมายการทำงานของสถาปนิก คือการออกแบบอาคารประเภทต่างๆ ให้สวยงาม สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และกฎหมาย โดยใช้ความรู้ ความสามารถของทั้งทางศิลปะและเทคนิค โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน และสนองความต้องการของผู้อาศัยหรือผู้ใช้อาคาร
อาชีพสถาปนิกจะต้องมีการทำงานกับอาชีพอื่นๆ โดยทั่วไปแล้ว อาชีพหลักที่สถาปนิกต้องทำงานร่วมกันคือวิศวกร ที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา และแนะนำในเรื่องเทคนิคระดับซับซ้อน นอกจากนี้อาจจะมีที่ปรึกษาอื่นๆ อย่าง มัณฑนากร (Interior Designer) และภูมิสถาปนิก (Landscape Architect) โดยอาชีพทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ผ่านการประสานงานของสถาปนิกที่เป็นผู้นำของทีม
สถาปนิกจะทำการบริการวิชาชีพตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. บันทึกรายละเอียดความต้องการของลูกค้า
2. ออกแบบเบื้องต้น (Schematic Design) ออกแบบ คำนวณแบบ เลือกวัสดุ
3. ออกแบบรายละเอียด (Design Development หรือ DD)
4. คำนวณรายการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับเนื้องาน
5. ทำแบบก่อสร้าง (Construction Document) เตรียมแบบ และส่งแบบที่วาดโดยช่างเขียนแบบให้ลูกค้าพิจารณา เพื่อดัดแปลงแก้ไขและตอบข้อซักถามของลูกค้าร่วมกับวิศวกร
6. ส่งแบบให้กับวิศวกรทำการก่อสร้าง
7. ออกปฏิบัติงานร่วมกับวิศวกรระหว่างทำการก่อสร้าง เพื่อให้ใช้วัสดุตามแบบที่วางไว้ตามเงื่อนไขสัญญา
8. ให้คำปรึกษาต่อวิศวกรและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างและการคำนวณของวิศวกร
สถาปนิกนอกจากเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และทักษะพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมแล้ว ความรอบคอบ และความรับผิดชอบ ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ส่วนโปรแกรมที่สถาปนิกใช้ในการทำงานก็มีหลายโปรแกรม เช่น SketchUp, Photoshop, Autocad หรือ Archicad เพราะจะมีความแม่นยำ สวยงาม และรวดเร็ว
ความก้าวหน้าของอาชีพสถาปนิก ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญในงาน โดยมีหลักประกันเป็นฝีมือและผลงานที่ทำงานมา ใครที่ทำงานในภาครัฐก็จะมีการเลื่อนขั้นตามความสามารถ และถ้าได้มีการศึกษาต่อหรืออบรมหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติม สามารถเลื่อนเป็นผู้อำนวยการของหน่วยเองที่สังกัดอยู่ได้ ส่วนใครที่ทำงานในภาคเอกชน สามรถเป็นผู้จัดการหรือผู้ดูแลโครงการก่อสร้างหรือเป็นเจ้าของกิจการก็ได้
ความจริงแล้ว การเรียนคณะสถาปัตย์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสถาปนิกทุกคนนะ ยังมีอาชีพอีกเยอะมากๆ ที่คนสายงานนี้สามารถทำได้ สามารถเข้าไปทำความรู้จักกับ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ที่ arch.spu.ac.th/ เพื่ออ่านหลักสูตร กิจกรรม และผลงานของนักศึกษาที่บอกเลยว่าเจ๋ง!