ทนายความ คือผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ให้สามารถว่าต่างแก้ต่างคู่ความในเรื่องอรรถคดีต่างๆ ซึ่งถือเป็นความฝันของใครหลายคนที่เรียนจบนิติศาสตร์เลยก็ว่าได้
ใครที่อยากรู้ว่าการที่จะเป็นทนายความได้ ต้องมีคุณสมบัติและผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง? ไปดูกัน!!!
การที่จะสมัครสอบใบอนุญาตทนายความได้ จะต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์หรืออนุปริญญาตรี ที่สภาทนายความรับรองเท่านั้น!
เมื่อมีปริญญานิติศาสตร์ (หรืออนุปริญญาตรี) ก็จะต้องเข้าฝึกอบรมและผ่านการทดสอบจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จากสภาทนายความ โดยจะแบ่งการทดสอบเป็น 2 แบบคือ การสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการอบรมวิชาว่าความ กับการสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ตั๋วรุ่น” กับ “ตั๋วปี”
เมื่อผ่านการสอบภาคปฏิบัติ หรือการฝึกงาน 1 ปีแล้ว สถานีต่อไปก็คือการสอบแบบสัมภาษณ์ต่อหน้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (หรือเรียกกันว่าการสอบปากเปล่า) ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในการสอบมี 3 ส่วนด้วยกัน คือประสบการณ์ฝึกงาน, หลักกฎหมาย และการซักถามพยาน
พอผ่านการสอบปากเปล่าแล้ว สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความจะกำหนดวันอบรมจริยธรรม เนื้อหาก็จะบรรยายถึงหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ จริยธรรมของทนายความ รวมถึงมารยาททนายความด้วย
เมื่อได้รับใบประกาศนียบัตรแล้ว ก็จะต้องนำใบประกาศนียบัตรดังกล่าวไปยื่นเพื่อสมัคร สามัญสมาชิก (กรณีผู้สอบผ่านเนติฯ) หรือวิสามัญสมาชิก (กรณีผู้ที่สอบไม่ผ่านเนติฯ) กับ เนติบัณฑิตยสภา โดยเนติบัณฑิตยสภาก็จะทำการตรวจสอบว่าบุคคลนั้นๆ ว่ามีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาหรือไม่
ขั้นตอนสุดท้าย คือการยื่นคำขอจดทะเบียนใบอนุญาตให้เป็นทนายความที่ฝ่ายทะเบียนของสภาทนายความ ซึ่งสภาทนายความก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ถ้ามีคุณสมบัติครบทางสภาทนายความก็จะออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความให้กับเรา
ขอบอกเลยว่าการที่จะเป็นทนายความได้นอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายที่แน่นแล้ว ยังต้องมีความอดทน น่าเชื่อถือ และซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
แต่ถ้าเราผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับก็ถือว่าคุ้มค่ากับความพยายามมากเลยทีเดียว!
ติดตามกิจกรรมและเรื่องน่าสนใจจากคณะนิติศาสตร์ได้ที่ : www.spu.ac.th/fac/law/