Home SPU Guru เปิดรับแล้ว! บริษัทจำลองสุด Wow ของ Dek SPU อยากหารายได้ระหว่างเรียนมาสมัครเลย!

เปิดรับแล้ว! บริษัทจำลองสุด Wow ของ Dek SPU อยากหารายได้ระหว่างเรียนมาสมัครเลย!

by author

เปิดรับแล้ว! บริษัทจำลองสุด Wow ของ Dek SPU อยากหารายได้ระหว่างเรียนมาสมัครเลย!

เล่ม Agency จะพลาดคอลัมน์แนะนำ Agency ได้ไง! วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เกี่ยวกับ Agency หรือบริษัทจำลอง จากคณบดีทั้ง 3 ท่าน ทั้ง ผศ.ดร. กมล จิราพงษ์ คณบดี คณะดิจิทัลมีเดีย, อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และท่านสุดท้าย ผศ.มานินทร์ เจริญลาภ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 ท่านจะมาให้คำตอบแบบเจาะลึก ทั้งวิธีสมัคร วิธีการทำงาน และข้อดีของการเป็นพนักงานฝึกหัดในบริษัทจำลองทั้ง 3 แห่ง ใครสนใจอยากมีรายได้ระหว่างเรียน และฝึกฝนตัวเองให้เก่งนำหน้าคนอื่นๆ ต้องตามมาอ่านเลยล่ะ!

PROFILE :

ประวัติอาจารย์

ชื่อ : ผศ.ดร. กมล จิราพงษ์ 

ตำแหน่ง : คณบดี คณะดิจิทัลมีเดีย

บริษัทจำลอง “DClub”

ของคณะอะไร : คณะดิจิทัลมีเดีย

สมัครได้ที่ไหน : เพจ Dclub/ คณะดิจิทัลมีเดีย

ใครเข้าได้บ้าง : เด็กดิจิฯ ปี 1-4

จุดเริ่มต้นของ DClub คณะดิจิทัลมีเดีย

คณะดิจิทัลมีเดีย ผลิตนักศึกษาที่มีความสามารถหลายด้าน ทั้งการออกแบบกราฟิก สื่อ Interactive VR AR MR เกม งานวาดรูป Digital Paint การทำแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์  จึงมีผู้ติดต่อเข้ามาต้องการจ้างให้นักศึกษา ผลิตสื่อต่างๆ ซึ่งปกติเราจะให้อาจารย์รับบรีฟจากลูกค้า แล้วมองหานักศึกษาที่มีฝีมือมาทำงานให้ ทีนี้พอเริ่มมีการติดต่อจ้างงานมากขึ้น เราเลยมีไอเดียว่า คณะควรมีช่องทาง ที่ช่วยเชื่อมระหว่างลูกค้าภายนอกกับเด็กนักศึกษาขึ้นมา เพื่อจับคู่งานให้เหมาะสมกับคนทำงาน แล้วให้อาจารย์เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งมีประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการและกับตัวนักศึกษาครับ

DClub ที่ๆ สร้างรายได้ให้นักศึกษาระหว่างเรียน

เป้าหมายหลักของ DClub คือต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์ ให้กับนักศึกษา ด้วยโจทย์งานจากลูกค้าจริงๆ ช่วยให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน  และเป็นการบริการทางวิชาการที่จะช่วยให้นักธุรกิจรายย่อย มีช่องทางการผลิตสื่อดิจิทัลได้ในราคาย่อมเยา อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษา ได้ฝึกฝีมือนอกเหนือจากการทำการบ้านในชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริงจากโจทย์จริงครับ

มาลองเป็นพนักงาน DClub ไหม?

นักศึกษาที่เข้ามาทำงานกับ DClub จะมีสถานะเป็นพนักงานบริษัท โดยมีอาจารย์เป็น Supervisor คอยให้คำแนะนำทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับโจทย์งานจากลูกค้า การทำงานเป็นทีม กฎกติกามารยาทในบริษัท รวมทั้งการควบคุมคุณภาพของงาน ที่จะต้องมีความสมบูรณ์ และพร้อมแก้ไขตามความต้องการของลูกค้า นักศึกษาจะได้เห็นว่างานที่ทำได้รับ Feedback จากลูกค้ายังไงบ้าง เพื่อจะได้นำไปพัฒนาคุณภาพ และวิธีการทำงานของตัวเองให้เป็นมืออาชีพ

ฝึกมือไว้ก่อนเจอขั้นตอนทำงานจริง

จริงๆ แล้วใน DClub มีตำแหน่งงาน หลายตำแหน่งมาก แต่จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ สักตัวอย่างหนึ่ง เช่น งานออกแบบกราฟิก เริ่มต้นด้วยการรับโจทย์งานจากลูกค้า วางแผนการทำงาน ว่าสามารถทำเสร็จได้ด้วยตัวเอง หรือว่าจะต้องมีทีมงานด้านอื่น เช่นจะมีการสร้างภาพสามมิติเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีก็จะต้องจ่ายงานส่วนนั้นไปให้กับทีมสร้างภาพสามมิติ จากนั้นนักศึกษาจะต้องกำหนดระยะเวลาการทำงาน และส่งงานครั้งแรกให้ลูกค้าดูว่าโอเคไหม ถ้าลูกค้าอยากจะแก้ไขอะไรเพิ่มเติม ก็ดำเนินการแก้ไขให้จนกว่างานจะสมบูรณ์เป็นที่พอใจของลูกค้าครับ

มาสร้างคอนเนคชั่นตั้งแต่เนิ่นๆ กันดีกว่า

นักศึกษาที่มีฝีมือดีหารายได้จากการทำงานกับ DClub ได้จริงๆ เขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองในระหว่างเรียนโดยที่ไม่ต้องรบกวนผู้ปกครอง แล้วยังเป็นการสร้างคอนเนคชั่นกับลูกค้า รวมถึงได้สะสมผลงานใน Portfolio เป็นการอัพเกรดโปรไฟล์ของตัวเองให้มีความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจกับลูกค้าใหม่ๆ ได้อีกด้วย

เข้าทีม DClub ได้พบความสามารถพิเศษที่แอบเก็บซ่อนไว้ด้วย

นักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาฝึกงานกับ DClub มักจะรู้แล้วว่าตัวเองต้องการทำงานเฉพาะทางในด้านไหน และพอฝึกงานแล้วก็จะมีสกิลด้านนั้นๆ เพิ่มขึ้น แต่เราพบว่าบางคนเมื่อได้มาฝึกงานแล้ว เพิ่งจะพบว่าตัวเองมีความสามารถและความชอบในด้านอื่นๆ ด้วย เขาก็อาจจะสร้างเส้นทางอื่นๆ ขึ้นกับอาชีพในอนาคต ซึ่งถ้าแค่เพียงเรียนในชั้นเรียน ก็อาจไม่เห็นทักษะที่ถนัดอื่นๆ ของตนเองเลย

สนใจมาร่วมทีม อย่ารอช้ารีบสมัครเลย!

ใครสนใจอยากหารายได้ระหว่างเรียน มาติดต่อที่คณะดิจิทัลมีเดียหรือทักแชทไปที่เพจ หรือตาม QR CODE ข้างล่างได้เลยนะครับ

บริษัทจำลอง “SOA B-UNIT”

ของคณะอะไร : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สมัครได้ที่ไหน : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ใครเข้าได้บ้าง : เด็กสถาปัตย์ฯ ปี 1-4

จุดเริ่มต้นของ B-UNIT คณะสถาปัตย์ฯ

ต้องบอกว่าเราไม่ได้เรียก SOA B-UNIT ว่าเอเจนซี่ แต่เราเรียกว่า Business B-UNIT หรือ B-UNIT ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยความรู้สึกที่ว่าคณะสถาปัตย์ฯ เป็นคณะที่เรียนอ้างอิงจากการทำงานจริง แต่ด้วยความที่ตัวงานที่เราเข้าใจว่ามันเป็นงานจริงๆ คือเป็นงานสมมติที่อาจารย์เป็นคนตั้งโจทย์ขึ้นมา ดังนั้นคำถามของผมก็คือ เราจะทำยังไงให้นักศึกษาเราได้รับงานและทำงานจริงจากโจทย์จริงๆ ของลูกค้า ซึ่งสามารถนำไปสร้างต่อยอดจริงๆ ได้ อย่างที่สองคือ ผมเห็นว่าส่วนใหญ่นักศึกษาของเราทำงานระหว่างเรียนไปด้วยมันอาจเป็นการเสียโอกาสที่เขาไม่ได้ใช้ทักษะที่เรียนในการทำงาน ผมว่านี่คือโจทย์ที่เราตั้งขึ้นมาก่อนจัดตั้ง B-UNIT

B-UNIT รับทำงานอะไรบ้าง?

เรามีสตูดิโอ 3 กลุ่ม  ซึ่งแบ่งตามงานที่จะได้รับ 

  1. Architectural Work มีทั้ง 3D Perspective และ ARCH Drafting
  2. Graphic Design มีบริการ Poster Design, Logo Design และ Portrait Drawing
  3. Photo & Media ได้แก่ Event Photography, Studio Photography และ Video Editing

B-UNIT ทำงานกันยังไง?

ภาพรวมในการทำงานของเราคือ เรามีเว็บไซต์ที่ให้ลูกค้าของเรา ทั้งภายในและภายนอกเข้ามาติดต่อกับเรา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านเว็บไซต์หรือผ่านช่องทางส่วนตัวก็ได้ เมื่อได้รับงานจากลูกค้าก็จะมีอาจารย์สองท่านที่ทำหน้าที่เป็น Director คือ อาจารย์จรรยา ผลประเสริฐ และ ผศ.อานนท์ พรหมศิริ ซึ่งคอยดูว่างานที่ได้รับนั้นเหมาะกับทั้ง 3 กลุ่มสตูดิโอของเราอย่างไร ดูความต้องการของลูกค้า และเลือกนักศึกษาเข้ามารับชิ้นงานนั้นๆ จากนั้นถึงจะให้นักศึกษาเข้ามาร่วมพูดคุยกับลูกค้า พัฒนาผลงาน นำเสนองาน จนเสร็จสิ้นกระบวนการและส่งมอบงานให้ลูกค้า

ความตั้งใจของ B-UNIT กับการเรียนรู้ข้ามศาสตร์

ความยากคืองานทางด้านสถาปัตย์ฯ นั้นจำเป็นต้องใช้วิชาชีพที่เฉพาะทาง เราจึงต้องใช้คนที่มีทักษะเฉพาะเข้ามาทำงานบางส่วนซึ่งต้องใช้นักสถาปนิกจริงๆ เท่านั้น แต่ในส่วนงานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน ในอนาคตก็จะมีการเปิดรับนักศึกษาข้ามคณะครับ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในอนาคตแน่ๆ สำหรับการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามคณะ

B-UNIT เปิดรับใครเข้าทีมบ้าง?

ตอนนี้เราเปิดรับเด็กสถาปัตย์ฯ ทั้งที่เรียนอยู่ หรือเรียนจบไปแล้ว ซึ่งสามารถสมัครได้จากทั้ง 3 ช่องทางคือ ติดต่อมาทางโปสเตอร์ที่ติดประชาสัมพันธ์อยู่ หรือทางอาจารย์ผู้ดูแลทั้งสองท่าน หรืออาจารย์ท่านใดก็ได้ในคณะ สุดท้ายคือช่องทางที่เราได้เพิ่มเติมเข้าไปคือ Open House ของ อาจารย์จรรยา ผลประเสริฐ ซึ่งเปิดให้นักศึกษาที่ไม่รู้ กล้าเข้ามาลองทำงานกับเรามากขึ้น

สนใจมาร่วมทีม มาเลย เก่งขึ้นแน่!

ผมมองว่า B-UNIT เป็นเหมือนโอกาส และเมื่อเรามีโอกาส เราไม่ควรตั้งเงื่อนไขที่จะหยิบโอกาสให้กับตัวเอง ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกว่าโอกาสเป็นสิ่งที่คุณควรคว้าให้กับตัวเอง คนที่มี Passion ทำงานระหว่างที่เรียนอยากมีประสบการณ์ระหว่างเรียน และมองว่านี่คือพื้นที่ซึ่งเป็นโอกาสการทำงานจริง มีผลงานที่ปรากฏขึ้นจริง หรือใครที่ต้องการรายได้ที่จะช่วยผู้ปกครองแบ่งเบาภาระ คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้สามารถ เดินเข้ามาสมัครได้เลยครับ เพื่อให้ตัวเรามีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพราะผมไม่สนว่าคุณจะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ยังไงโครงสร้างของ B-UNIT นั้นถูกออกแบบมา เพื่อจัดกลุ่มการทำงานเป็นเลเวล และฝึกฝนให้เก่งขึ้นอยู่แล้วครับ

PROFILE :

ประวัติอาจารย์

ชื่อ : ผศ.มานินทร์ เจริญลาภ 

ตำแหน่ง : คณบดี คณะนิเทศศาสตร์

บริษัทจำลอง “Sim Agency”

ของคณะอะไร : คณะนิเทศศาสตร์

สมัครได้ที่ไหน : คณะนิเทศศาสตร์

ใครเข้าได้บ้าง : เด็กนิเทศฯ ปี 1-4 และคณะอื่นๆ ที่มีความสนใจศาสตร์ด้านนิเทศฯ

เหตุผลที่ต้องมี Sim Agency คณะนิเทศฯ

Sim Agency คือบริษัทจำลองที่ตั้งขึ้นมาด้วยมุมมอง 2 มุม คือ อย่างแรกในมุมของนักศึกษา เราอยากให้นักศึกษามี Playground ให้ทุกคนลองทำงานจริง โดยเปิดโอกาสตั้งแต่ชั้นปีแรกๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่กว่าจะได้มีโอกาสในฝึกงานก็จำเป็นต้องมีทักษะในการทำงานก่อนแล้ว ถึงเข้าไปฝึกสหกิจศึกษาได้ แต่ Sim Agency นั้น เป็นเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้ามาทดลองลงสนามจริง ได้ค้นหาตัวตน และฝึกฝนทักษะด้านการทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ ในมุมที่สองคือ ทางคณะของเราเองก็จะได้มีทีมงานในการเข้ามาดูแลการจัดกิจกรรมต่างๆ ของทางคณะเอง ซึ่งเด็กๆ ก็จะรับงานจากทางคณะสามารถทำงานได้โดยมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าการทำงานในบริษัทภายนอก จึงสามารถฝึกฝนทักษะกันได้อย่างเต็มที่

Sim Agency เข้ามาฝึกอะไรกัน?

ถ้าในเรื่องของ Soft Skills เด็กๆ จะได้เรียนรู้เยอะมาก อย่างแรกเลย เราอยากให้เขารักในการทำงาน ได้ลองการบริหารเวลา ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยากให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องสนุก ได้มาเข้าทีม ได้เจอเพื่อน ได้ฝึกฝนในเรื่องของการทำงานเป็นทีมการบริหารงาน การแก้ไขปัญหา การมีภาวะผู้นำ ส่วนในด้านทักษะอื่นๆ เด็กก็จะได้เสริมเข้ามาตามความสนใจ หรือตามสายงานที่เข้าไปลองทำ ซึ่งตรงนี้ทุกคนจะเก่งขึ้นอย่างแน่นอน

Sim Agency ทำงานกันแบบไหน?

ขั้นตอนการทำงาน คือเด็กๆ ก็ได้ไปเจอลูกค้าจริงๆ ได้รับบรีฟกันจริงๆ อย่างในงานปฐมนิเทศของทางมหาวิทยาลัย เด็กก็ได้รับบรีพจากท่านอธิการบดีจริงๆ จากนั้นค่อยนำมาคิด และเตรียม Presentation เพื่อนำเสนองาน ขั้นตอนนี้หากไม่ผ่านก็นำมาปรับแก้ หากผ่านก็ดำเนินการต่อ จากนั้นก็วางแผนการจัดการขั้นตอนการทำงาน ดูเรื่องงบประมาณและเรื่องระยะเวลา ถึงค่อยจัดงานออนไซต์ขึ้นมาจริงๆ ครับ

Sim Agency มีเกณฑ์รับสมัครไหม?

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจ คือเราไม่มีเกณฑ์ในการรับเด็ก ใครอยากทำ ใครใจรัก ก็เข้ามาสมัครเลย เพราะถ้ามีเกณฑ์ก็เท่ากับตัดโอกาสเด็ก เพราะเราเป็นสถานที่ๆ เปิดโอกาส เพราะฉะนั้นใครใจรักและอยากทำก็มาเลยครับ โดยทุกคนสามารถติดต่อได้ที่รุ่นพี่ทุกคนที่เป็น Sim Agency หรืออาจารย์ทุกท่าน หรืออาจจะเดินเข้ามาติดต่อในสำนักงานของคณะได้เลยครับ

“โอกาส” คือค่าตอบแทนที่มากกว่า “เงิน”

ผมอยากให้ทุกคนมองค่าตอบแทนในเรื่องของเงินเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะผมอยากให้เด็กมองเรื่องของโอกาสในการทำงาน เป็นสิ่งที่ต้องมีก่อนออกไปทำงานจริงๆ ใน Sim Agency เราเปิดพื้นที่ให้ได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ เปิดโอกาสในการได้เจอลูกค้าตัวจริง ได้ Connection ที่ทุกคนจะสามารถนำไปต่อยอดอาชีพได้ เพราะพื้นที่นี้ คือพื้นที่แห่งโอกาส ที่ทุกคนจะได้เริ่มสตาร์ทและเก็บเกี่ยวทักษะ เพื่อไปให้ถึงปลายทางของตน

เหตุผลที่เราควร “ลอง” ฝึกให้มากกว่าคนอื่น

ครูที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนคือตัวเอง เพราะตัวเราเองจะรู้ว่าเราเก่งอะไร สนใจอะไร ไม่สนใจอะไร ดังนั้นการเป็นครูที่ดีที่สุดของตัวเอง คือการได้ลงมือทำ ได้ทดลองทำ ได้ลองผิดลองถูก โดยเฉพาะศาสตร์ในด้านนิเทศฯ ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะควบคู่กับเรื่องของความรู้ แต่ทักษะนั้นถ้าหากเราไม่ลงมือฝึกฝน ก็ไม่มีทางที่เราเก่งขึ้นได้ ยิ่งเราได้ลองผิดลองถูก ได้ลงมือทำ นั่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด และเร็วที่สุดครับ

หาสิ่งที่รักให้เจอ ก่อนไปลุยให้เต็มที่!

อยากฝากน้องๆ ทุกคนว่า ให้หาสิ่งที่ตัวเองรักให้เจอ อะไรก็ได้แล้วมีความสุข ลองหายใจเข้าหายใจออกเป็นเรื่องนั้น ลงมือทำในทุกๆ วัน แล้วทำได้อย่างมีความสุข ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกคนไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน แล้วอยากให้ลองเข้ามาสัมผัส Sim Agency อยากให้ลองเข้ามาอยู่ในบรรยากาศของการทำงานที่สนุก มีความสุข แล้วทุกคนจะชอบแน่ๆ ครับ

You may also like