Home Homeroom จากรุ่นพี่สายรางวัล สู่บทบาทอาจารย์ SPU

จากรุ่นพี่สายรางวัล สู่บทบาทอาจารย์ SPU

กุญแจสู่การเติบโต คือลงสนามแข่งขันดูสักครั้ง!

by author

จากรุ่นพี่สายรางวัล สู่บทบาทอาจารย์ SPU
กุญแจสู่การเติบโต คือลงสนามแข่งขันดูสักครั้ง!

ผมได้เห็นถึงความสำคัญของการก้าวออกจาก Comfort Zone และลงเวทีประกวดต่างๆ ในชีวิตของการเป็นนักศึกษา เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของรางวัล แต่เป็นการผลักดันตัวเองเพื่อพัฒนาทักษะและสะสมประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ เลยอยากให้น้องๆ ลองอ่านคำแนะนำนี้ด้วยกัน อาจสร้างแรงบันดาลใจในการลงสนามก็ได้นะครับ

PROFILE :

อาจารย์เบนซ์ – พีระพล นิลพัด

ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

เลือกสาขา : วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

จบจากโรงเรียน : วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท จังหวัดชัยนาท

IG : @BENZB22X_

ตำแหน่งงานปัจจุบัน : IoT Engineer & Co-Founder บริษัท ทริปเปิล เทค เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด

และอาจารย์พิเศษ ม.ศรีปทุม

Q : สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีโอกาส สร้างผลงาน/ได้รางวัล อะไรบ้าง?

  • A : สมัยเรียน ม.ศรีปทุม ผมได้มีโอกาสร่วมแข่งขันและสร้างสรรค์ผลงานไว้ ดังนี้

    • รางวัลนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยายกลุ่มการศึกษา “ระดับดีเยี่ยม” ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อ “ระบบควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยเอ็มพีพีทีอัลกอริทึม” ในการประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 9 และ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 7 เรื่อง การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมยุค “Next Normal”
    • โครงการ “The Young Energy Designer” กับผลงาน “ระบบไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ลดมลภาวะทางแสงอย่างยั่งยืน
    • ออกแบบบอร์ดอัจฉริยะ “SPU IoT Starter Kit” ให้หลักสูตร AIoT รุ่นที่ 4
    • นำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง “อุปกรณ์กายภาพบำบัดรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง” ด้วยเทคโนโลยี IoT ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 7 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ประจําปี 2565 ผ่านช่องทางออนไลน์ 
    • รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดผลงานสหกิจศึกษาประเภทนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ภาคเรียนที่ 2/2565
    รางวัลชมเชย จากโครงการ CWIE ด้านนวัตกรรมดีเด่น ระดับภาคกลางตอนบน ประจําปี 2567

Q : ทำไมสักครั้งในชีวิต ต้องพาตัวเองลงเวทีแข่งขัน?

A : ผมว่าสิ่งนี้ได้ท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง ทั้งเรื่องการนำเสนอไอเดียและผลงาน รวมถึงพัฒนาทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ การลงประกวดเป็นโอกาสที่ดีในการออกจาก Comfort zone ครับ ทำให้เราก้าวข้ามอุปสรรคทางความคิด นอกจากนี้ ถ้าเราได้เห็นผลงานเป็นที่ยอมรับในเวทีประกวดต่างๆ มันอาจเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ที่ผลักดันให้เราอยากพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ครับ

Q : เคล็ดลับคิดโปรเจกต์ให้โดนใจกรรมการ

A : ลองเริ่มจากการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว สังเกตปัญหาหรือความต้องการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในสังคมหรืออุตสาหกรรมต่างๆ แล้วนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาใช้แก้ไขปัญหานั้น หรือการเลือกปัญหาที่ตัวเองสนใจ จะทำให้โปรเจกต์มีความหมายและมีแรงบันดาลใจมากขึ้น

Q : ทักษะสำคัญที่ฝึกไว้ก่อนลงเวทีใหญ่ดีกว่า?

A : ก่อนลงสนามจริง ผมอยากให้ทุกคนฝึกทักษะเหล่านี้ไว้เยอะๆ ครับ

  • การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา : เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาไอเดียที่แตกต่างและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในงานประกวดที่ต้องใช้ไอเดียที่โดดเด่นและแตกต่างกว่าคนอื่นๆ
  • การนำเสนอ : การสื่อสารไอเดียอย่างชัดเจนและน่าสนใจ มีส่วนดึงดูดความสนใจของกรรมการ อาจฝึกการใช้สไลด์ วิดีโอ หรือการพูดในที่ประชุมเพิ่มด้วย
  • การทำงานเป็นทีม : หลายโปรเจกต์นั้นต้องการทีมที่ช่วยเหลือกันเพื่อรวมความคิดสร้างสรรค์ เราต้องแบ่งหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทีมสามารถสร้างผลงานที่ดีและมีคุณภาพสูงขึ้นมาได้

Q : วิธีการสอนให้สนุกสไตล์อาจารย์พิเศษ SPU

A : นอกจากการทำงานในตำแหน่ง IoT Engineer & Co-Founder แล้ว ผมยังมีบทบาทของอาจารย์พิเศษที่ SPU สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things (IoT) และ Embedded Systems ซึ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้การเรียนสนุกและไม่น่าเบื่อ ผมใช้การสอนที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีกับการลงมือทำจริง รวมถึงการเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงในโลกธุรกิจ โดยวิธีการที่ผมใช้ ได้แก่

  1. เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Hands-on Learning) : นักศึกษาได้ทดลองเขียนโปรแกรมควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์อย่าง ESP32 หรือ Arduino และต่อวงจรด้วยตนเอง ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งในเทคโนโลยีที่เรียน
  2. กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ : ผมเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอโปรเจกต์ IoT หรือ Embedded systems ที่เด็กสนใจ ซึ่งส่งเสริมให้เด็กคิดค้นและทดลองวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ

เชื่อมโยงทฤษฎีกับสถานการณ์จริง : ผมนำโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาระบบสมาร์ทโฮมหรืออุปกรณ์ IoT ทางการแพทย์ มาให้นักศึกษาได้วิเคราะห์และแก้ไข เพื่อให้เข้าใจว่าทฤษฎีสามารถนำไปใช้ได้จริงในธุรกิจอย่างไรบ้าง

Q : เราอยากปั้นให้เด็กให้เก่งอะไร?

A : สิ่งที่ผมอยากผลักดันให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การคิดเชิงนวัตกรรมและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพราะทักษะเหล่านี้ช่วยให้เด็กนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขปัญหาในโลกจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์โปรเจกต์ใหม่ การนำ IoT หรือ Embedded systems มาพัฒนาธุรกิจของตัวเอง หรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ผมอยากให้เด็กพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม และการร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเติบโตเป็นบุคลากรที่พร้อมเผชิญกับความท้าทายในสายอาชีพตนเอง

Q : อยากเรียนเก่งสายเทคต้องทำยังไง?

A : คำแนะนำที่ผมอยากส่งต่อถึงรุ่นน้องในคณะเทคโนโลยีฯ คือ การเปิดใจกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ การพัฒนาทักษะที่หลากหลาย เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวตามให้ทันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา อย่ากลัวที่จะทดลองสิ่งใหม่ หรืออยู่นอกเหนือจากความถนัด เพราะนั่นอาจเป็นโอกาสที่ทำให้คุณเติบโตได้ อีกสิ่งที่ควรใส่ใจ คือ การทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน แต่การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการสื่อสารไอเดียอย่างชัดเจนเป็นทักษะที่จำเป็นในทุกสายงาน ดังนั้นการฝึกฝนในห้องเรียนและการทำโปรเจกต์จริง จะช่วยเตรียมความพร้อมให้คุณเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้ครับ

You may also like