ครบรอบ 53 ปี SPU รุ่นพี่คนเก่งมีอะไรอยากบอก!
ประวัติผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ดร. สุข พุคยาภรณ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2459 ที่บ้านริมน้ำ ตำบลคลองสิบ อำเภอหนองจอก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของ นายพุกและนางหรั่ง พุคยาภรณ์ได้สะสมประสบการณ์จากการทำงานและการศึกษาด้วยตนเอง โดยเริ่มจากพายเรือขายของสู่การงานรับเหมาก่อสร้าง มีคติประจำ ใจที่ผู้ใกล้ชิดได้ยินได้ฟังท่านพูดอยู่เสมอคือ “การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการกระทำ”
สานต่อความตั้งใจ สร้างโอกาสด้านการศึกษา
ดร. สุข พุคยาภรณ์ ได้สานต่อความตั้งใจที่จะให้เด็กไทยได้รับโอกาสในการศึกษาเพิ่มขึ้น และร่วมแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล จึงก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุมขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 แห่งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 โดยมีความเชื่อที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานนาม “ศรีปทุม” มีความหมายว่า “เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว”
“ดอกบัว” สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
ดอกบัวหลวงสีชมพู เป็นสัญลักษณ์แทนนามศรีปทุม ดอกบัวแต่ละกลีบ หมายถึง ปัญญา ความเชี่ยวชาญ และความเบิกบาน ล้อมรอบด้วยรูป หกเหลี่ยม ซึ่งหมายถึงคุณธรรม โดยคุณลักษณะทั้งหมดนี้จะเป็น คุณสมบัติของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุมตลอดไป สีประจำสถาบันคือสีฟ้าและสีชมพู ดอกไม้ประจำสถาบันดอกบัวหลวงสีชมพู ต้นไม้ประจำสถาบันต้นปาล์มขวด (Royal Palm)
ขยายวิทยาลัยสู่พื้นที่เศรษฐกิจ
ในปีการศึกษา 2530 มหาวิทยาลัยได้ขยายวิทยาเขตออกไป เกิดเป็นมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ภายใต้แนวคิด 2 ประการ คือเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับเยาวชนในภาคตะวันออก และตอบสนองต่อแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ที่ต้องการพัฒนาแหล่งชุมชนและสังคมแถบจังหวัดตะวันออกของประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่พื้นที่เศรษฐกิจที่ตลาดแรงงานกำลังเติบโตขึ้น
ผลิตบัณฑิตคุณภาพ สู่สังคมอาเซียน
ในปีการศึกษา 2556 สภามหาวิทยาลัยมีมติให้มหาวิทยาลัยศรีปทุมจัดตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น โดยมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพออกสู่ตลาดแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้านในแถบฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงเป็นการตอบสนองการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ปัจจุบันเปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
จำนวนหลักสูตร
- มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน มีทั้งสิ้น 10 คณะ 6 วิทยาลัย 38 สาขา
- มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มีทั้งสิ้น 7 คณะ 10 สาขา
- มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น มีทั้งสิ้น 6 คณะ 2 วิทยาลัย 13 สาขา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน ตั้งแต่ปี 2530-ปัจจุบัน เป็นบุตรของดร.สุข พุคยาภรณ์ และ นางมาลินี พุคยาภรณ์ ด้วยความตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ ของดร.สุข พุคยาภรณ์ จึงพัฒนาการศึกษา สร้างหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการในแต่ละยุคสมัย เพื่อสร้างบัณฑิตคุณภาพ พัฒนาประเทศชาติและเศรษฐกิจสืบไป
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาเอก สาขา Organizational Management, Alliant International University ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ปริญญาโท สาขา School Administration, Mississippi State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ปริญญาตรี สาขา Business Administration, Mississippi University for Women ประเทศสหรัฐอเมริกา
มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล “หน้าบ้านน่ามอง”
จากการที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตระหนักถึงการจัดสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อวิถีชีวิตความเป็นนักศึกษา จึงมุ่งจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม จนในปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล “หน้าบ้านน่ามอง” จากกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้มีอาคารขนาดใหญ่หลายอาคารในมหาวิทยาลัย ดังนี้
- อาคารดร.สุข พุคยาภรณ์ (อาคาร 1)
- อาคารอเนกประสงค์ (อาคาร 3)
- อาคารวิศวกรรมศาสตร์ (อาคาร 4,6)
- อาคารสยามบรมราชกุมารี (อาคาร 5)
- อาคารโรงอาหารร้อน (อาคาร 7)
- อาคารโรงอาหารเย็น (อาคาร 8)
- อาคาร 30 ปี ศรีปทุม (อาคาร 9)
- อาคารกิจกรรมนักศึกษา (อาคาร 10)
- อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม (อาคาร 11)
- ศูนย์มีเดีย “ดร.วีระ ปิตรชาติ” (โซนหลังอาคาร 9)
- ศูนย์กีฬาในร่ม (Gymnasium)
- SPU D Space (วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ)
SPU 53 ปี แห่งความสำเร็จ
นับเป็นระยะเวลา 53 ปี แห่งความสำเร็จ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยีกายภาพ และสิ่งแวดล้อม กิจการนักศึกษา กีฬา รวมถึงศักยภาพในการแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ของคณาจารย์ และนักศึกษา เพื่อรองรับพันธกิจหลัก 4 ประการของสถาบันอุดมศึกษา คือการผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และ การทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมนํามาซึ่งความภาคภูมิใจ และเป็นกําลังใจที่จะทําให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก้าวไปข้างหน้า เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนํา” อย่างแท้จริง