ปัจจุบันเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรสำหรับเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และนักศึกษาที่จบใหม่ไม่สามารถทำงาน หรือการผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ SIPA ลงนามความร่วมมือร่วมกันในโครงการบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์ มีความรู้ความชำนาญที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มอัตราส่วนผู้จบการศึกษา IT ที่ขาดแคลนในตลาดแรงงาน ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีความพร้อมในการทำงาน ณ ห้องบอร์ดรูม ชั้น 14 อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน
         ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี และคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัย ศรีปทุมกล่าวว่า
ตามที่ SIPA ได้เริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา และการส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านไอที ในภาวะที่ขาดแคลนบุคลากรสำหรับเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ นักศึกษาที่จบใหม่ยังไม่สามารถเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที  ทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการอบรมบุคลากรอย่างน้อย 3 เดือน นอกจากนี้แล้วยังมีการโยกย้ายของบุคลากรที่มีความสามารถ ไปทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ไม่อยากที่จะลงทุนทางด้านพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังมีปัญหาความสามารถของผู้จบการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของบริษัทซอฟต์แวร์ จำนวนนิสิต-นักศึกษาที่พร้อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจึงมีไม่ถึง 10% ของผู้ที่จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องในแต่ละปี ซึ่ง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็ได้พยายามแก้ไขโดยจัดให้มีการฝึกงานในรูปแบบสหกิจศึกษา เพื่อพัฒนาเพิ่มเติมให้ผู้สำเร็จการศึกษามีประสบการณ์ มีความรู้ความชำนาญที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก็ช่วยเพิ่มบัณฑิตเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมาก แต่ในภาพรวมนักศึกษาทางด้านซอฟต์แวร์ก็ยังต้องการการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงร่วมกับ SIPA และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ร่วมกัน พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ให้มีศักยภาพเชิงรุก สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจด้านไอที ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีทักษะความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดงานโดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่การหรือ การพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น รุ่นที่ 1 จำนวน 100 คน เพื่อให้ทันความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ”
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ (การพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น) ส่วนหลักสูตรปริญญาโท ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และหลักสูตร ปริญญาเอก สาขาวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทุกหลักสูตรได้สนับสนุนให้เกิดความเป็นเลิศทางด้านไอทีภายใต้ความมุ่งมั่นความเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “โดดเด่นไอซีที” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย แข่งขันในตลาดโลก พร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้