อาชีพสุดเจ๋งที่ Dek โลจิส SPU ได้ทำหลังจบแน่นอน

 

          สำหรับน้องๆ หลายคนที่พอรู้มาบ้างว่า สาขาวิชาโลจิสติกส์ นั้น จะเกี่ยวข้องกับการจัดการระบบขนส่ง…

          ว่าแต่…เขาทำงานอะไรกันบ้างนะ? เรียนจบแล้วต้องทำเกี่ยวกับส่งของอย่างเดียวหรือเปล่า?

วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักกับอาชีพที่น่าสนใจของสายงานโลจิสติกส์ ว่ามีอาชีพอะไรกันบ้าง ตามมาดูกันเลย!

 

 

Warehouse Manager ผู้จัดการแผนกคลังสินค้าและจัดส่ง

 

สำหรับตำแหน่งนี้ อาจจะต้องสะสมประสบการณ์ประมาณ 3-6 ปี ในสายงาน ความรับผิดชอบก็คือ ต้องวางแผนการใช้พื้นที่จัดเก็บ บริหารการจัดเก็บสินค้าให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ คอยควบคุมการดำเนินงานรับเข้า – เบิกจ่าย และจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้าให้มีความถูกต้อง อีกทั้งการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำกับการดูแลและบริหารงานจัดส่ง… ตำแหน่งนี้ ไม่ไกลเกินฝันแน่นอน

 

 

Shipping ตัวแทนออกของ

 

Shipping คือการให้บริการแบบครบวงจร เป็นงานที่ทางบริษัทจะมีทั้งเรือและรถสำหรับส่งสินค้า เราจะมีหน้าที่ติดต่อกับผู้ส่งออกว่ามีปริมาณสินค้าปริมาณเท่าไร โดยเราจะทำหน้าที่ด้านการทำเอกสารต่างๆ ผ่านธนาคาร คอยจัดการตู้คอนเทนเนอร์สำหรับจัดเก็บของ การติดต่อบริษัทส่งสินค้าทางเครื่องบิน เพื่อนำสินค้านำเข้าหรือส่งออกไปต่างประเทศ จนถึงการไปรับสินค้าจากโกดังที่ลูกค้านำไปเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ

 

 

Freight Forwarder ตัวแทนของผู้จัดส่งสินค้า

 

Freight Forwarder จะทำหน้าที่คล้าย Shipping แต่ไม่ใช่งานเดียวกันนะ เพราะ Freight Forwarder เป็นธุรกิจบริการ ที่บริษัทไม่จำเป็นต้องมีเรือส่งของเป็นของตัวเอง แต่จะเน้นเป็นคนกลางที่คอยให้บริการนำเข้าและส่งออกสินค้าในเรื่องต่างๆ เช่น การส่ง การจองระวางเรือ การห่อสินค้า การดำเนินเอกสารพิธีการศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออก จะไม่ใช่บริษัทที่ทำทุกอย่างในการส่งสินค้าอย่าง Shipping ฉะนั้นอย่าจำสับสนกันนะ

 

 

Customs Clearance / Customs House งานพิธีการศุลกากร

 

งานพิธีการศุลกากร หรืองานพิธีการการนำเข้าสินค้า หน้าที่นี้คือการจัดเก็บภาษีอากรจากของที่นำเข้ามาและส่งออกไป โดยสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศนั้นๆ ซึ่งจะต้องชำระภาษีอากรเรียบร้อยแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นการนำเข้าและส่งออกอย่างถูกกฎหมาย เราจึงต้องมีสกิลความรอบคอบและการสังเกตเป็นอย่างมากในการทำเอกสาร เพื่อไม่ให้มีเรื่องผิดพลาด

 

 

Cargo / Air Freight งานด้านการส่งสินค้าทางอากาศ

 

เป็นการเน้นการให้บริการ การส่งสินค้าทางอากาศ โดยหน้าที่ของ Cargo จะเป็นการทำงานหน้าที่ในคลังสินค้า และจะมีเรื่องเอกสารและศุลกากรมาเกี่ยวด้วย ดังนั้น Cargo จะแตกต่างกับการรับส่งพัสดุสินค้าทั่วไปแค่เฉพาะวิธีการที่ส่งผ่านเครื่องบินเท่านั้น แต่ประเภทของสินค้าจะไม่ต่างกันกับบริการรับ/ส่งพัสดุสินค้าอื่นๆ มากนัก แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็สามารถจัดส่งได้

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ รอให้น้องๆ มาค้นหาเกี่ยวกับโลจิสติกส์อีกมากมาย ใครที่อยากเป็นมืออาชีพในวงการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คลิก! www.spu.ac.th/fac/logistics/